ภาษีความหวานรอบใหม่ ทุบ “น้ำผลไม้” อีกระลอก

ภาษีความหวาน น้ำผลไม้

หลังจาก พ.ร.บ.สรรพสามิตปี 2560 ได้เรียกเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเกือบทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ “น้ำผลไม้” ซึ่งมีความหวานที่ได้จากธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่มีค่าความหวานเกินกว่า 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร มีผลทำให้น้ำผลไม้ 100% ทุกรายล้วนต้องเสียภาษีดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาษีส่วนที่ผู้ผลิตน้ำผลไม้แต่ละรายต้องเสียจึงมีผลต่อต้นทุนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากในช่วง 2 ปีแรก (16 ก.ย. 2560-30 ก.ย. 2562) กรมสรรพสามิตยังกำหนดอัตราภาษีที่ไม่สูงมากนัก ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายจึงยอมแบกรับต้นทุนดังกล่าวเอาไว้ โดยไม่ปรับราคาเพื่อไม่ให้ยอดขายได้รับผลกระทบเนื่องจากสภาพตลาด การแข่งขัน เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ตลาดมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาทติดลบอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเวลาของการปรับตัว แนวทางของหลายบริษัทได้เริ่มออกสินค้าใหม่ ๆ ที่มีการปรับสูตรให้หวานน้อยลง การหันมาใช้สารให้ความหวานทดแทน ฯลฯ รวมไปถึงการ “ไดเวอร์ซิฟาย” ธุรกิจไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยง เนื่องจากภาษีดังกล่าวจะเพิ่มอัตราการจัดเก็บมากขึ้นทุก ๆ 2 ปี ซึ่งจะกระทบอย่างหนักกับสินค้าที่มีความหวานมาก ๆ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า อัตราการจัดเก็บในช่วง 2 ปีแรกของกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ และน้ำพืชผัก หากมีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัมแต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร

แต่ในช่วงปีที่ 3-4 ซึ่งจะเริ่มนับปลายปีนี้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562-30 กันยายน 2564 จะเพิ่มดีกรีการเก็บในกลุ่มที่มีน้ำตาลสูงมากยิ่งขึ้น โดยอัตราเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมยังคงเดิม แต่อัตราของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 10 กรัม จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่าตัว ได้แก่ กลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.5 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 100% กลุ่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร จากเดิม 1 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 200% และกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 400%

“ทนุ เนาวรัตน์พงษ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผักผลไม้รวม ยูนิฟ ฉายภาพว่า น้ำผลไม้เป็นเครื่องดื่มที่มีความหวานจากธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำผลไม้ 100% ที่ปรับตัวได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนสูตรอะไรมาก ๆ ได้

จึงมองว่าสินค้าในกลุ่มนี้จะต้องปรับขึ้นราคาตามอัตราภาษีใหม่ที่เริ่มใช้ในช่วงปลายปี หลังจากที่ผู้ประกอบการยอมแบกรับต้นทุนเอาไว้ในช่วง 2 ปีแรก เพื่อคงราคาให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงไม่ให้กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง

ภาษีความหวาน น้ำผลไม้

ในส่วนของบริษัทเองมีการศึกษาเรื่องการปรับสูตรมาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าน้ำผักผสมน้ำผลไม้ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการปรับมากกว่า เพราะผักให้ความหวานน้อยกว่าผลไม้ คาดว่าจะใช้วิธีการเพิ่มสัดส่วนผักมากขึ้นเพื่อลดความหวานในภาพรวมลง แต่อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของผักนั้นมีราคาที่สูงกว่าผลไม้ จึงต้องคำนวณอัตราส่วนให้เหมาะสม

แหล่งข่าวระดับสูงจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มรายหนึ่งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เทรนด์การปรับตัวของผู้ประกอบการน้ำผลไม้ นอกจากจะต้องมีสินค้าใหม่ที่หวานลดลงแล้ว ยังต้องบาลานซ์ธุรกิจไปยังแคทิกอรี่อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างการเติบโตของยอดขายให้เป็นไปตามเป้า เห็นได้จากการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของมาลีในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงทิปโก้ที่ทยอยส่งสินค้าใหม่ แคทิกอรี่ใหม่ เข้ามาบาลานซ์พอร์ตอย่างต่อเนื่อง

“รุ่งฉัตร บุญรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2562 มาลีเตรียมที่จะปรับโปรดักต์พอร์ตโฟลิโอให้เหมาะสมกับเทรนด์ของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งกลุ่มไฮเอนด์อย่าง Malee Fruit Fresh น้ำผลไม้ 100% กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ Dr.Drink ตลอดจนกลุ่มเพอร์ซันนอลแคร์ หลังจากที่ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท พีที คีโน่ อินโดนีเซีย ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในอินโดนีเซีย เพื่อรุกตลาดเครื่องใช้ส่วนบุคคลที่มีมูลค่ากว่า 1.54 แสนล้านบาท

ในขณะที่ทิปโก้มีการลงทุนใหม่ทั้งขยายไลน์ผลิตน้ำแร่ออรา ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแตกไลน์สินค้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นทิปโก้ มีน้ำผลไม้น้ำตาลน้อยแคลอรีต่ำ โดยปรับลดน้ำตาลลง 50% จากสูตรปกติ และใช้สารสกัดจากหญ้าหวาน, ทิปโก้ ฟรุตตี้ มิกซ์ น้ำผักและผลไม้รวม ซึ่งทั้งคู่ยังได้รับเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ Healthier Choice ที่จะให้กับเครื่องดื่ม

หรืออาหารที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร และไขมัน โซเดียม อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตลอดจนผลักดันธุรกิจรีเทล อย่างร้านอาหารออร์แกนิก “ออกัส” และร้านเครื่องดื่มสมูทตี้ “ควีซ จูซ บาร์” ให้เติบโตมากขึ้นผ่านการขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ

น้ำผลไม้ 100% เคยเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสสุขภาพ แต่ในวันนี้การตื่นตัวเรื่องปริมาณน้ำตาล และการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องเร่งมือปรับตัวขนานใหญ่