“BJC” ทุ่มพันล้าน ย้ำเบอร์ 1 ขวดแก้วอาเซียน

การเติบโตของบรรจุภัณฑ์แก้วยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการที่คนทั่วโลกตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น การหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลจึงกลายเป็นเทรนด์ที่ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปีนี้กลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วของบริษัท เตรียมที่จะใช้งบฯลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และกำลังการผลิต ในโรงงานที่มีอยู่จำนวน 5 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 3 โรงงาน และต่างประเทศ 2 โรงงาน ในเวียดนาม และมาเลเซีย

และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งฐานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในต่างประเทศ โดยเบื้องต้นมองความเป็นไปได้ในเมียนมา ลาว และกัมพูชา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตอย่างต่ำ 250 ตัน/วัน เพื่อรับกับการเติบโตของตลาด และเทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก หลังจากที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

“ในกระบวนการผลิตเราสามารถนำขวดแก้วที่ใช้แล้วกลับมาหลอมใหม่กี่ครั้งก็ได้ รวมถึงสามารถรียูส หรือนำมาใช้ซ้ำโดยผ่านขั้นตอนของการล้างและฆ่าเชื้อก่อนนำมาบรรจุใหม่ ซึ่งบีเจซีมีการนำวัสดุรีไซเคิลจากเศษแก้วเข้ามาใช้กระบวนการนี้กว่า 85%”

นอกจากนี้การใช้ขวดแก้วยังทำให้สินค้ามีความสวยงาม และมีภาพลักษณ์พรีเมี่ยม สอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน

“อัศวิน” ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้งบฯลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เริ่มเดินเครื่องเตาหลอมที่ 5 ของโรงงานสระบุรี ทำให้กำลังการผลิตของทั้งเครืออยู่ที่ 4,350 ตัน/วัน ถือเป็นผู้นำในอาเซียน แบ่งเป็นกำลังการผลิตในประเทศ 3,400 ตัน และต่างประเทศ 950 ตัน/วัน

โดยกำลังการผลิต 50% สำหรับรองรับลูกค้าในเครือ และอีก 50% เป็นลูกค้านอกเครือ ซึ่งทิศทางในอนาคตต้องการเพิ่มสัดส่วนของลูกค้านอกเครืออย่างต่อเนื่อง และหากแบ่งกำลังการผลิตตามกลุ่มสินค้า จะพบว่าสัดส่วนหลักของการผลิตจะป้อนให้กับสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 40% น็อนแอลกอฮอล์ 15% และอาหาร เช่น ขวดซอส ขวดน้ำปลา ฯลฯ อีก 45%

และในปีนี้ นอกจากเรื่องของการขยายกำลังการผลิตแล้ว จะเพิ่มน้ำหนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และดีไซน์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เติบโต 8% จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากบรรจุภัณฑ์แก้ว 12,000 ล้านบาท และบรรจุภัณฑ์กระป๋อง 8,000 ล้านบาท เป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของบรรจุภัณฑ์แก้วในภาพรวม 25,000 ล้านบาท ที่เติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี

ส่วนภาพรวมของการดำเนินธุรกิจช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยอมรับว่าปัจจัยในประเทศ ทำให้ลูกค้าต้องรอความชัดเจนจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่คาดว่าตลาดและความต้องการของบรรจุภัณฑ์แก้วจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2-3 อย่างต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนทำให้ความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มสูงขึ้นตามไปด้วย

หัวเรือใหญ่บีเจซียังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่การขายได้มาก ๆ หรือการทำราคา แต่เป็นเรื่องของการควบคุมคุณภาพ และความเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ตามสเป็ก ในจำนวนที่ตกลงกันไว้ ตามเวลาที่กำหนดให้ได้ และที่สำคัญต้องไม่หยุดพัฒนา…