ออกกฎคุมธุรกิจค้าไม่แฟร์ ค้าปลีกหนาวเพิ่มบทลงโทษ

รัฐเตรียมคลอดไกด์ไลน์ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง จัดระเบียบแข่งขันเสรี-เป็นธรรม วางบทลงโทษปรับสูงสุด 10% ของรายได้ เร่งประชาพิจารณ์ บังคับใช้ มิ.ย.ก่อนยกร่างฉบับสองคุมแฟรนไชส์ สมาคมผู้ค้าปลีกชี้ยังไม่กระทบ สมาคมข้าวถุงหนุนสุดตัว หลังพบพฤติกรรมเอาเปรียบ

ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวและขยายสาขาต่อเนื่อง แต่ก็มักจะมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งประเภทเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและซัพพลายเออร์เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการ “ร้องเรียน” พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเสมอ จนต้องออก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าขึ้นมาดูแล

ใกล้คลอดไกด์ไลน์คุมค้าปลีก/ส่ง

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า (บอร์ดแข่งขัน) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและโฆษก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ดกำลังยกร่าง ประกาศคณะกรรมการแข่งขันเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาการปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (ไกด์ไลน์) เป็นธุรกิจแรก โดยเป็นไปตาม มาตรา 57 พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้การค้าปลีกและค้าส่งในประเทศเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทําการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในลักษณะดังนี้ (1) กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม (2) ใช้อํานาจตลาดหรืออํานาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม (3) กําหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจํากัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่น และ (4) กระทําการในลักษณะอื่นตามที่ประกาศกําหนด

“ได้เชิญตัวแทนผู้ค้าปลีกและสมาคมที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นต่อร่างไกด์ไลน์แล้ว เมื่อ 3 เม.ย. 2562 ซึ่งเอกชนก็ยอมรับในไกด์ไลน์ เดิม พ.ร.บ.ฉบับปี 2542 แม้มีไกด์ไลน์ แต่ไม่มีบทลงโทษ เมื่อฉบับใหม่ออก จึงกำหนดโทษทางปกครองสำหรับพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมตามมาตรา 57 ให้ปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด โดยหากเป็นความผิดในปีแรกจะปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท” นายสันติชัยกล่าว

ร่างไกด์ไลน์ฉบับนี้ จะครอบคลุมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทุกประเภท ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า, ดิสเคานต์สโตร์, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าปลีกเฉพาะสินค้า เช่น ร้านขายยา แต่ไม่รวมสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะกำกับอยู่แล้ว

ส่วนพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจะพิจารณาใน 3-4 ด้าน อาทิ เป็นการกระทำที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ไม่ใช่การดำเนินการตามธุรกิจปกติ หรือเป็นเงื่อนไขที่มิได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ได้แจ้งให้คู่ค้าทราบล่วงหน้า หรือไม่มีเหตุผลชอบธรรมทางการตลาด หรือด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ขณะนี้ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น 30 วัน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ภายในมิถุนายนนี้

8 พฤติกรรมเข้าข่ายไม่เป็นธรรม

สำหรับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมของธุรกิจค้าปลีก จะครอบคลุม 8 ด้าน คือ 1) การกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม เช่น กดราคารับซื้อต่ำเกินควร 2) การเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมการวางสินค้า ค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มหรือการขอส่วนลดในวาระพิเศษ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย และส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าได้ตามเป้าหมาย (รีเบต)

3) การคืนสินค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีที่ไม่เป็นเหตุบกพร่องของผู้ผลิต การคืนจากกรณีที่สั่งผลิตในปริมาณมาก การปรับปรุงร้านหรือคลังสินค้า รวมถึงกรณีที่ไม่ยอมรับภาระความเสียหายจากการคืนสินค้า 4) การใช้สัญญาการฝากขายที่ไม่เป็นธรรม 5) การบังคับให้ซื้อหรือจ่ายค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม เช่น บังคับให้ซื้อสินค้าบางส่วนหรือทั้งหมด บังคับให้จ่ายค่าโฆษณาส่งเสริมการขาย บังคับให้ซื้อบริการที่เป็นการผลักภาระ

6) การใช้พนักงานของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอย่างไม่เป็นธรรม เช่น บังคับให้มีพนักงานไปประจำ ณ ที่จำหน่ายของผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก หรือบังคับให้จ่ายเงินพิเศษกรณีส่งพนักงานไปประจำ โดยไม่มีเหตุผล 7) การปฏิเสธการรับสินค้าที่สั่งซื้อหรือผลิตเป็นพิเศษ (house brand) โดยไม่มีเหตุผล และ 8) การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ประวิงเวลาจ่ายสินค้า ลดปริมาณการสั่งซื้อ หยุดหรือไม่ประกอบธุรกิจ หรือถอนสินค้าออกจากชั้นวาง การนำข้อมูลหรือความลับทางการค้าหรือเทคโนโลยีของลูกค้ามาใช้อย่างไม่เป็นธรรม หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การค้าปกติ

ออกร่างไกด์ไลน์คุมแฟรนไชส์ต่อ

นอกจากนี้ บอร์ดแข่งขันทางการค้ายังเตรียม “ยกร่างไกด์ไลน์ในธุรกิจแฟรนไชส์”ฉบับที่ 2 เนื่องจากมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และยังไม่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล จึงมักเกิดปัญหาความไม่ยุติธรรมระหว่างเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ หากยกร่างแล้วเสร็จก็จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะสามารถประกาศไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

ไม่ทำผิด กม. ไม่มีผลกระทบ

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะอนุกรรมการและทราบถึงการยกร่างไกด์ไลน์แล้ว โดยมองว่าสาระสำคัญของร่างยังเป็นร่างไกด์ไลน์ค้าปลีกตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับปี 2542 อยู่ แต่ได้นำมาปรับใช้ตามกฎหมายใหม่ แม้ว่าจะมีรายละเอียดและมีความเข้มงวด รวมถึงมี “บทลงโทษ” แต่ทางสมาคมเห็นว่า ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ หากผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไม่ได้ทำผิดกฎหมายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย มองว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีจุดประสงค์ต้องการป้องกันการผูกขาดทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และถูกออกแบบมาเพื่อดูแลพฤติกรรมการขายของผู้ประกอบการที่มีทั้งผู้เล่นรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะได้เปรียบคู่แข่งรายที่เล็กกว่า

“ผมยกตัวอย่างกรณีการจำหน่ายน้ำมันพืชขวดใหญ่ราคา 20 บาท โดยราคามาตรฐานในตลาดจะอยู่ที่ 30 บาท ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายยอมขาดทุนลดราคา เพื่อสร้างกระแสและดึงดูดลูกค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบรายย่อยหรือรายเล็กได้รับผลกระทบในการแข่งขันด้านราคา อย่างนี้ เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถฟ้องเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมให้เข้าไปจำหน่ายสินค้าในพื้นที่เช่าแล้วจ่ายค่าเช่าพื้นที่ขายในระยะเวลา 3 เดือน แต่แบรนด์สินค้าไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าที่กำหนด ทางบริษัทเจ้าของพื้นที่เช่าจึงมองว่า เสียผลประโยชน์ เลยอยากหาแบรนด์อื่นเข้ามาขายแทนที่ แล้วมีกำหนดให้ออกก่อนสัญญา แสดงถึงพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการก็สามารถฟ้องได้

แต่เมื่อรัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าออกมาบังคับใช้แล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากที่สุด

สมาคมข้าวถุงหนุนสุดตัว

ด้าน นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวถุงตรามาบุญครอง ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า การออกไกด์ไลน์ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะมีส่วนช่วยผู้ผลิตสินค้า (แวนเดอร์) ที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในห้างค้าปลีกค้าส่ง ให้มีช่องทางเลือกในการดำเนินการกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ไกด์ไลน์ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเชื่อมโยงไปยังสินค้าอื่นที่จำหน่ายในค้าปลีกนั้นด้วย

หากสามารถทำได้ เชื่อว่าจะมีผู้ผลิตที่ใช้ช่องทางนี้เรียกร้องความเป็นธรรม โดยที่ผ่านมาสมาชิกสมาคมได้เคยเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้ามาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากผู้ค้าข้าวถุงพึ่งพาช่องทางการจำหน่ายผ่านค้าปลีกสูงมาก เช่น มาบุญครอง ส่งข้าวถุงผ่านช่องทางค้าปลีกค้าส่งประมาณ 30-35%

“เดิมแวนเดอร์มักประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ไม่มีใครอยากมีปัญหากับผู้ค้าปลีก ค้าส่งหลายรายหันไปจำหน่ายเองผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่สำหรับข้าวถุง

ยังต้องพึ่งค้าปลีกเพราะเรื่องโลจิสติกส์ดีกว่าส่งเอง ตอนนี้พฤติกรรมที่เป็นประเด็นมากที่สุดในขณะนี้ คือ การนำสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่ายโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ให้เวลาปรับตัว โดยให้เหตุผลว่าสินค้าขายไม่ดี ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าเดือดร้อนมาก แต่ด้วยความที่มีสินค้าหลายเอสเคยูที่ขายในค้าปลีกก็กลัวจะมีการเชื่อมโยงกันจึงมักไม่ร้องเรียนหากมีไกด์ไลน์ต้องดำเนินการในเชิงป้องกันปัญหาอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ”