ร้านกาแฟ 1.7หมื่นล้านร้อนฉ่า ค่ายยักษ์แตกแบรนด์ชนรายย่อย-SMEs

ดีมานด์กาแฟสด 1.7 หมื่นล้านโตไม่หยุด ค่ายยักษ์ผุดแบรนด์ใหม่เจาะตลาดกลาง-ล่างดักทุกกำลังซื้อ กลุ่มซีพีปูพรม “สตาร์คอฟฟี่” เจาะภูธร ส่งโมเดลแฟรนไชส์เร่งขยาย เหนือ-ใต้-อีสาน พร้อมเปิด “จังเกิลคาเฟ่” ปักธง สปป.ลาว ด้านท็อปส์ ส่ง “คอฟฟี่ บาย ท็อปส์” รองรับตลาดเมืองรอง ฝั่ง “สิงห์-ดอยช้าง” ซุ่มปั้น “นอร์เต้” ขยายฐานคอกาแฟระดับกลาง

แม้ธุรกิจร้านกาแฟจะเป็นอีกสมรภูมิที่มีการแข่งขันดุเดือด แต่จากอัตราการบริโภคกาแฟของผู้บริโภคไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ยังคงเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งไทย-เทศ เดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจร้านกาแฟ 1.7 หมื่นล้านไม่หยุด ซึ่งไม่เพียงแต่การเดินหน้าปูพรมร้านกาแฟระดับพรีเมี่ยมเจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง ที่ดื่มรสชาติ-คุณภาพ และให้ความสำคัญกับแบรนด์เพื่อบ่งบอกไลฟ์สไตล์ แต่ยังรวมถึงการแตกแบรนด์ใหม่ราคาเข้าถึงง่ายเพื่อรองรับดีมานด์ของลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ที่กลายเป็นอีกตลาดที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน เพื่อเข้าถึงลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นทั้งความเคลื่อนไหวของแบรนด์กาแฟสดราคาเบา ๆ เริ่มต้นที่ 40-50 บาท จากค่ายร้านสะดวกซื้อ-สถานีบริการน้ำมัน ที่รุกขยายตัวเข้าถึงทำเลใหม่ ๆ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น เช่น “คาเฟ่อเมซอน” จาก ปตท. ที่เดินหน้าเปิดสาขานอกปั๊มทั้งในไทยและต่างประเทศต่อเนื่อง, “อินทนิล” ของปั๊มบางจาก

ที่ล่าสุดจับมือกับธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับผู้สนใจเป็นแฟรนไชซี ช่วยสปีดสาขาให้เร็วยิ่งขึ้นรวมถึง “กาแฟมวลชน” จากซีพี ออลล์ ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มราคาเบา ๆ ในหลากหลายทำเลพร้อมเพิ่มบริการดีลิเวอรี่ รับพฤติกรรมผู้บริโภคคนเมือง ตลอดจนการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ ๆ ทั้งค่าย “สิงห์-ดอยช้าง” ที่กำลังพัฒนาแบรนด์ “นอร์เต้” เจาะตลาดระดับกลาง รวมทั้งแบรนด์ใหม่จากกลุ่มซีพีที่เข้ามาปูพรมสาขารับโอกาสในทุกพื้นที่

30 บาทปูพรมทุก พท.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กลุ่มซีพียังเดินหน้าขยายธุรกิจกาแฟสดต่อเนื่อง ทั้งภายใต้แบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยล่าสุด ได้ส่ง “สตาร์ คอฟฟี่” (Star Coffee) แบรนด์กาแฟที่ต่อยอดออกมาจากกลุ่มธุรกิจ 5 ดาวของซีพีเอฟ ทำราคาย่อมเยา เริ่มต้นที่ 30 บาท ออกมาปูพรมพื้นที่ในต่างจังหวัดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ฯลฯ โดยมุ่งเน้นขยายผ่านระบบแฟรนไชส์ที่ชูจุดเด่นใช้เงินลงทุนน้อย (ราว 19,000 บาท) มีซุ้มกาแฟและเครื่องชงให้ยืมฟรี มีบริการส่งสินค้าฟรีถึงที่ พร้อมทั้งมีการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาด้านการขาย ที่ช่วยให้สามารถปูพรมสาขาได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ “อาราบิเทีย คาเฟ่” (Arabitia Cafe) ร้านกาแฟนอกร้านสะดวกซื้อของซีพี ออลล์ ก็ขยับสาขาเข้ามาในเมืองมากขึ้น เช่น เปิดสาขาที่ศูนย์การค้าเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดสาขาแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทดลองตลาด ซึ่งนอกจากเมนูเครื่องดื่มร้อน-เย็น ราคาเริ่มต้นที่ 40-50 บาท ยังมีอาหารกล่องเพื่อสุขภาพจำหน่ายที่ร้าน รวมทั้งมีบริการดีลิเวอรี่ด้วย

เช่นเดียวกับจังเกิลคาเฟ่ (Jungle cafe) ร้านกาแฟเจาะกลุ่มลูกค้าบีบวกจากค่ายเดียวกัน นอกจากจะมีโมเดลแฟรนไชส์ช่วยขยายสาขาในประเทศ ล่าสุดได้รุกคืบปักธงสาขาในต่างประเทศสาขาแรกในสถานีบริการน้ำมัน พลัส ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งเพิ่งจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ยักษ์เครื่องดื่ม “สิงห์” ก็มีแผนรุกสู่ธุรกิจกาแฟมากขึ้น ด้วยการจับมือกับบริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดกาแฟ และร้านกาแฟ “ดอยช้าง” ตั้งบริษัท ดีวีเอส 2014 จำกัด ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อดำเนินธุรกิจกาแฟครบวงจร ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุด อยู่ระหว่างพัฒนาร้านกาแฟ “นอร์เต้” เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์กาแฟต่าง ๆ ภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกันด้วย

“ท็อปส์” เพิ่มแบรนด์เจาะแมส

นางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ต “ท็อปส์”, ร้านกาแฟพรีเมี่ยม “เซกาเฟรโด” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อรับกับการบริโภคกาแฟที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากจะโฟกัสขยายสาขาและทำการตลาดร้านกาแฟพรีเมี่ยมเซกาเฟรโดอย่างเข้มข้นมากขึ้น ยังได้พัฒนาร้านกาแฟสด “คอฟฟี่ บาย ท็อปส์” เพื่อให้บริการในร้านท็อปส์ เดลี่

สำหรับเติมเต็มเคาน์เตอร์ฟู้ดทูโกที่จะมีทั้งอาหารพร้อมรับประทาน เบเกอรี่ และกาแฟ ในลักษณะแกร็บแอนด์โก ตอบรับพฤติกรรมลูกค้าที่ต้องการอาหาร-เครื่องดื่มที่รับประทานได้สะดวก เจาะตลาดแมสด้วยราคาขายแก้วละ 35-45 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขยายจุดจำหน่ายคอฟฟี่ บาย ท็อปส์ให้มากขึ้น

“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เซกาเฟรโดก็ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งเราจะเน้นขยายสาขาและสร้างการรับรู้แบรนด์ให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ แต่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่หัวเมืองหลักเราจะไปด้วยคอฟฟี่ บาย ท็อปส์ที่จะไปพร้อมกับท็อปส์ เดลี่ ซึ่งมีราคาถูกกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า ซึ่งการมีร้านกาแฟ 2 แบรนด์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน จะช่วยให้เราเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น”

ราคาคุ้มเหมาะรายได้คนไทย

ก่อนหน้านี้ นายชัยสิทธิ์ สุทธิขจรกิจการ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้านกาแฟ “ทรูคอฟฟี่” ระบุว่า การเติบโตของร้านกาแฟระดับกลาง-แมสยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีความคล่องตัวในการขยายสาขา ดังนั้น นอกจากมีแผนเปิดร้านทรูคอฟฟี่ต่อเนื่อง ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโมเดลใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลางภายใต้ชื่อ “GO True Coffee” โดยได้ทดลองเปิดสาขาแรกในมหาวิทยาลัยสวนดุสิตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 วางราคาเครื่องดื่มในร้านถูกกว่าร้านทรูคอฟฟี่ปกติกว่าครึ่งหนึ่ง ใช้เงินลงทุนต่อสาขาน้อยลง ซึ่งจะช่วยให้เปิดร้านได้ง่ายขึ้น เข้าถึงพื้นที่และฐานลูกค้าใหม่ ๆได้มากขึ้น

สอดคล้องกับแหล่งข่าวผู้บริหารในธุรกิจร้านกาแฟสด ฉายภาพกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางของธุรกิจกาแฟมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปริมาณการบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีร้านกาแฟใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งแบรนด์จากต่างชาติที่เข้ามา ร้านกาแฟอินดี้ ตลอดจนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ปั้นแบรนด์เข้ามาแข่งขันรับโอกาสในตลาดเช่นกัน


แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานรายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถบริโภคกาแฟที่มีราคาสูงได้เป็นประจำ การทำแบรนด์กาแฟที่มีคุณภาพดี ในราคาเข้าถึงง่าย สมเหตุสมผล จึงเป็นอีกโอกาสที่จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ได้มากขึ้น