จับตายุทธศาสตร์ “เอ็มเค” ทุ่ม 2 พันล้าน ฮุบแหลมเจริญ ซีฟู้ด

กลายเป็นเสียงฮือฮาไม่น้อยในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับบิ๊กดีลในแวดวงธุรกิจอาหาร หลังจาก บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ได้อนุมัติให้ บริษัท คาตาพัลท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอ็มเคถือหุ้น 99.99% เข้าถือหุ้น 65% ใน “บริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด” คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 2,060 ล้านบาท โดยคาดว่ากระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้

ดีลครั้งนี้ จะได้รับผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เพื่อนำไปปรับใช้ทำการตลาด อาทิ cross promotion ส่งเสริมการขาย รวมถึงการใช้เครือข่ายครัวกลาง ระบบขนส่ง โลจิสติกส์ต่าง ๆ ร่วมกันได้ ตลอดจนอำนาจการต่อรองในเรื่องของทำเล ค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

และยังสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของเอ็มเคที่มุ่งขยายธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มประเภทของกลุ่มเมนูอาหารให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบการซื้อไลเซนส์ การร่วมทุน ตลอดจนการพัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที โดยปัจจุบันธุรกิจเอ็มเคมีทั้งหมด 688 สาขา 9 แบรนด์ ประกอบด้วย ร้านสุกี้ เอ็มเค ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ มิยาซากิ ฮากาตะ ร้านอาหารไทย เลอสยาม ณ สยาม ร้านข้าวกล่อง บิซซี่บ็อกซ์ ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ เลอเพอทิท และร้านขนมหวานเอ็มเค ฮาร์เวสต์

โดยรายได้ของเอ็มเคย้อนหลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) อยู่ที่ 15,498 ล้านบาท 16,457 ล้านบาท และ 17,233 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไร 2,099 ล้านบาท 2,424 ล้านบาท และ 2,573 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มมานานกว่า 40 ปี มีต้นกำเนิดมาจากร้านอาหารทะเลเล็ก ๆ ใน อ.เมือง จ.ระยอง และขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมี 27 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นขยายตามศูนย์การค้าเป็นหลัก ทั้งในเครือของเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ และภายหลังจากการทำตลาด และการใช้ระบบโลจิสติกส์ร่วมกัน ก็จะยิ่งทำให้แหลมเจริญ ซีฟู้ด สามารถลดต้นทุน เพิ่มอัตรากำไร และขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นอีก


คงต้องจับตาดูต่อไปว่า เอ็มเค จะใช้ยุทธศาสตร์อะไรในการเคลื่อนทัพอาณาจักรร้านอาหารของตัวเองต่อจากนี้