“เซ็นทรัล” ถอดแบรนด์ ZEN ทุ่ม 3 พันล้าน ยกเครื่องห้างใหม่

สรรพสินค้าเซ็นทรัลทุ่มกว่า 3 พันล้าน ยกเครื่อง “ZEN” ครั้งใหญ่รอบ 30 ปี พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “เซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์” เติมแม็กเนตแบรนด์ดัง แฟชั่น ร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ ยืดเวลาลูกค้าอยู่ห้างนานขึ้น-ตอบจริตคนรุ่นใหม่ ต้องการมากกว่าที่ช็อปปิ้ง ก่อนเติมเซอร์วิสรับ “ออมนิแชนเนล” เชื่อมออฟไลน์-ออนไลน์ไร้รอยต่อ รับโอกาสอีคอมเมิร์ซโตแรง ก่อนเดินหน้ารีโนเวตให้ครบ 20 สาขา ใน 3-5 ปี

นางณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล ระบุว่า ปัจจุบันความต้องการของลูกค้าในการมาเดินห้างสรรพสินค้า ไม่ได้ต้องการแค่เพียงการช็อปปิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการมาเดินเล่น แฮงเอาต์ นัดเพื่อน หรือสังสรรค์ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์มากขึ้น ทำให้เซ็นทรัลต้องปรับเพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้ารุ่นใหม่ รวมถึงเพิ่มเวลาในการมาเดินห้างสรรพสินค้ามากขึ้น โดยจะใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เริ่มจากการรีแบรนด์ห้าง ZEN@CentralwOrld ครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี เปลี่ยนเป็นแบรนด์ Central@CentralwOrld บนพื้นที่ 50,000 ตร.ม. เพื่อต่อยอดแบรนด์ “เซ็นทรัล” ที่เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากที่สุดในเครือ เป็นที่รู้จัก และเชื่อมั่นจากลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว บวกกับเซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นทำเลทองในการช็อปปิ้ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายอดขายของเซน ถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 รองจากเซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อนำจุดแข็งทั้งคู่มารวมกัน จึงมองว่าจะยิ่งทำให้การเติบโตของที่นี่มีมากขึ้น

ส่วนการปรับพื้นที่ภายใน จะมีการเติบแบรนด์แม็กเนตใหม่ ๆ ทั้งแฟชั่น ร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ ทั้ง 7 ชั้น ให้มีความหลากหลาย รวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 แบรนด์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ครอบครัว วัยรุ่น คนทำงาน ฯลฯ โดยเฉพาะสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ และแบรนด์ที่วางขายเฉพาะในเซ็นทรัล ที่จะมีสัดส่วนประมาณ 10-20% ของสินค้าทั้งหมด

รวมถึงโซน Coliving & Eating Space ที่มีทั้งร้านอาหาร แม็กเนตร้านดังจากมิชลินไกด์ ซึ่งจะเติมเต็มไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้อย่างครบครันมากขึ้น อาทิ ร้านข้าวซอยอองตอง, ลิ้มเหล่าโหงว, ไก่ทอดเจ๊กี ซอยโปโล ตลอดจนร้านชื่อดังทั้งไทยและทั่วโลก อาทิ บ้านเบญจรงค์ เลิศทิพย์, เปปปิน่า ร้านอาหารอิตาเลียน, หลุยซ่าคอฟฟี่ ร้านกาแฟสัญชาติไต้หวัน เป็นต้น

นอกจากนี้ การปรับโฉมเซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์ครั้งนี้ ยังมีการเติมบริการ เพื่อรองรับกลยุทธ์ออมนิแชนเนล ที่จะเชื่อมต่อการช็อปปิ้งของคนรุ่นใหม่ในทุก ๆ ช่องทาง ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เช่น click & collect การสั่งของออนไลน์ รับที่หน้าร้าน e-Ordering สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง แต่ที่สาขานั้นไม่มี จากนั้นระบบจะตรวจสอบว่าสินค้าดังกล่าวยังมีจำหน่ายที่สาขาไหน และทำการสั่งซื้อ รวมถึงจัดส่งไปยังที่ที่ลูกค้าต้องการได้ทันที และ chat & shop ในแอปพลิเคชั่นไลน์ ให้บริการในการเลือกซื้อ จนถึงการส่งสินค้าถึงมือลูกค้าภายใน 99 นาที (พื้นที่กรุงเทพฯ)

“ก่อนจะรีแบรนด์ครั้งนี้ เราศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและพบว่าลูกค้ารุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการมาห้างแค่ช็อปปิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการมาแฮงเอาต์ มาสังสรรค์ ใช้เวลากับเพื่อน เราจึงต้องปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนไป โดยโจทย์คือการทำให้เซ็นทรัลเป็นแบรนด์ห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของลูกค้า”

นางณัฐธีรายังระบุต่อไปอีกว่า การปรับโฉมเซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์ในครั้งนี้ พร้อมกับการจัดกิจกรรม แคมเปญการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขาย ที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น แคมเปญในช่วงแกรนด์โอเพนนิ่ง วันที่ 11-22 ธ.ค. สินค้าใหม่ลดสูงสุด 30% แคมเปญแบล็ค มิดไนท์ ลดสูงสุด 90% วันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.เป็นต้น จะช่วยให้ดึงทราฟฟิก และดึงดูดให้ลูกค้าใช้เวลาที่ห้างนานขึ้น จากปกติ 2-3 ชั่วโมง เป็น 5-6 ชั่วโมง โดยเฉพาะลูกค้าคนไทย ที่จะขยับสัดส่วนจาก 50% เป็น 60% ตลอดจนยอดขายที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 20% จากปีที่ผ่านมา และยังเป็นโมเดลสำหรับการรีโนเวตสาขาอื่น ๆ ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลต่อไป โดยในปี 2563 จะทำการปรับในสาขาลาดพร้าว ชิดลม และพระราม 2 ก่อนที่จะทยอยทำให้ครบ 20 สาขา (จากทั้งหมด 23 สาขา) ภายในเวลา 3-5 ปีจากนี้ด้วย ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้ปรับทุกสาขา เนื่องจากสาขาที่เหลือเป็นสาขาเล็กเกินไป เช่น เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว เป็นต้น