“จิราธิวัฒน์” พลิกเกมค้าปลีก ไอพีโอ 8 หมื่นล้าน โตก้าวกระโดด

เซ็นทรัลพลิกเกม “ธุรกิจครอบครัว” สู่ “บริษัทมหาชน” ระดมทุน 8 หมื่นล้าน ชู New Central New Retail สร้างการเติบโตทุกรูปแบบ-ควบรวมกิจการ สปีดรายได้ 2 แสนล้าน บุกหนักออมนิแชนเนลรับอีคอมเมิร์ซโต ชูห้างรีนาเชนเต อิตาลี สปริงบอร์ดบุกยุโรป ตั้งเป้าปักธงทั่วประเทศใน 5 ปี

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนงานในการนำเซ็นทรัล รีเทล เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มีความมั่นใจและเชื่อว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ในการนำเซ็นทรัล รีเทล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการเป็น New Central New Retail

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล กล่าวเสริมว่า ขณะนี้บริษัทได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 40-43 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณไม่เกิน 74,404-79,984 ล้านบาท เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะนำมาใช้ในการขยายกิจการของ CRC ประมาณ 24,000 ล้านบาท โดยกว่า 60% เป็นการลงทุนในไทย และที่เหลือเป็นการลงทุนในเวียดนาม กับอิตาลี

เตรียมขยายธุรกิจในไทย-ตปท.

นายญนน์ระบุด้วยว่า การระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายสาขาทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ อาทิ 1.การขยายสาขาใหม่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ 2.การขยายสาขาของไทวัสดุ 3.การขยายสาขาของบิ๊กซี/GO! ในประเทศเวียดนาม 4.การปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับโลก เพื่อต่อยอดความเป็นผู้นำในกลุ่มค้าปลีก

นายญนน์ย้ำว่า บริษัทมีไดเร็กชั่นที่จะสร้างการเติบโตด้วยตนเอง organic growth และการควบรวมกิจการ inorganic growth โดยมีเป้าหมายทั้งในประเทศ ภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลกตลอดจนการให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์ม omnichannel นำจุดแข็งของค้าปลีกออนไลน์ และหน้าร้านค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยสามารถเข้าถึงแบรนด์ต่าง ๆ ของเซ็นทรัล รีเทล ได้จากทุกสถานที่ทุกเวลา เพื่อรับกับการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

“ตัวเลขยอดขายผ่านช่องทางออมนิแชนเนลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มแฟชั่นมีการเติบโตถึง 95% กลุ่มฮาร์ดไลน์ 70% และกลุ่มฟู้ด 45% นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เพื่อสร้างแบรนด์ลอยัลตี้และเพิ่มยอดขายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลมีลูกค้าที่อยู่ในระบบลอยัลตี้โปรแกรมมากกว่า 28.8 ล้านรายทั่วโลก”

โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 159,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,298 ล้านบาท หรือเติบโต 4.1% จากรายได้รวมในช่วงระยะเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 5,860 ล้านบาท จากปี 2561 เซ็นทรัล รีเทล มีรายได้รวม 206,575 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี 8.3% (พ.ศ. 2559-พ.ศ. 2561) และมีกำไรสุทธิ 10,033 ล้านบาท

รุกหนักค้าปลีกเวียดนาม

นายญนน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับธุรกิจในเวียดนาม เซ็นทรัล รีเทล มีแผนจะใช้ฐานของธุรกิจบิ๊กซี เพื่อเร่งการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในเวียดนาม โดยขณะนี้ได้เริ่มเปลี่ยนชื่อสาขาของบิ๊กซี เป็น “GO!” ไปแล้ว 1 สาขา จากทั้งหมด 33 สาขา ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนให้ครบในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับการขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 7 สาขา ภายในปี 2563 นี้ คาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถเข้าไปสร้างความครอบคลุม และปักธงในเวียดนามได้ครบ 63 จังหวัด จากปัจจุบัน 37 จังหวัด ขณะที่ธุรกิจในอิตาลี จากความแข็งแกร่งของห้างสรรพสินค้าระดับลักเซอรี่ รีนาเชนเต ยังคงเข้าไปจับตลาดค้าปลีกไฮเอนด์ และนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และใช้ฐานจากอิตาลีเป็นการขยายตัวไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปต่อไป

การเสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของเซ็นทรัลตลอด 72 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้ประกอบไปด้วยแบรนด์ค้าปลีกหลายประเภท (multicategory) ครอบคลุม 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มฮาร์ดไลน์ และกลุ่มฟู้ด และยังมีรูปแบบตลอดจนช่องทางที่หลากหลาย (multiformat) ทั้งในและต่างประเทศ (multimarket) อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย รวมไปถึง GO! เหงียนคิม ลานชีมาร์ท ในประเทศเวียดนาม และรีนาเชนเต ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ในอิตาลี

นายสรวิศ ไกรฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า แผนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ CRC จำนวนรวมไม่เกิน 1,860.1 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นอยู่ที่ 40-43 บาทต่อหุ้น อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ที่ระดับ 28-30 เท่า (เปรียบเทียบจากหุ้นกลุ่มเดียวกัน 4 ตัว ที่มีระดับ P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 34 เท่า) คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 74,404-79,984 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าระดมทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และหากภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญและการปรับโครงสร้างการถือหุ้นทั้งหมด (ภายใต้สมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) รวมทั้งสิ้น 6,200.10 ล้านหุ้น สัดส่วนหุ้น 100% จะทำให้มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงที่สุดในประวัติการณ์ หรือสูงเกือบ 2.7 แสนล้านบาท สามารถจะเข้าไปอยู่ใน 15 อันดับของ SET50 ทันที


ขณะเดียวกัน หากนับสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 11 ราย ที่สนใจมาลงทุน (cornerstone investors) ของหุ้น CRC ที่มีมูลค่ารวมกว่า 24,000 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขายสูงสุด หรือกว่า 60% ของจำนวนหุ้นไอพีโอรวม 560.6 ล้านหุ้น และจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อได้ตั้งแต่ 29-31 มกราคม และ 3 กุมภาพันธ์นี้ และจะเข้าเทรดได้ในวันที่ 20 ก.พ.นี้