ธุรกิจเปิดศึกชิง “โควิด-19” ทุ่มแจ้งเกิด “วัคซีน-เครื่องตรวจ”

ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การแข่งขันพัฒนายา-วัคซีนสำหรับโควิด-19 นับว่ามีความดุเดือดไม่น้อย

หลังบริษัทยาทั่วโลกทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ต่างทุ่มทรัพยากรเร่งเครื่องกระบวนการวิจัย-พัฒนา เพื่อชิงตำแหน่งผู้ค้นพบยา-วัคซีนรายแรก ทำให้การแข่งขันนี้ดุเดือดยิ่งขึ้นจนไม่แพ้กีฬาโอลิมปิก เพราะเดิมพันในการแข่งขันนี้มีทั้งเรื่องเม็ดเงิน ชื่อเสียง และอาจรวมไปถึงศักดิ์ศรีอีกด้วย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงความคึกคักในวงการธุรกิจยา-สุขภาพในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพุ่งสูงขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาด โดย “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” (Johnson & Johnson) เปิดเผยว่า เตรียมหาอาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบวัคซีนในมนุษย์ช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ก่อนทำการทดลองในระดับการวิจัยทางคลินิกเพื่อยืนยันความปลอดภัยเดือนพฤศจิกายน หลังเริ่มการพัฒนามาตั้งแต่เดือนมกราคม พร้อมกับเตรียมกระบวนการผลิตแบบจำนวนมากตามแผนให้มีวัคซีนเพียงพอตั้งแต่ต้นปี 2564

ไปในทิศทางเดียวกับ “ไฟเซอร์” (Pfizer) ที่จะเริ่มทดลองวัคซีนซึ่งร่วมมือกับบริษัทเยอรมันพัฒนาขึ้นในมนุษย์ในอีก 3-4 สัปดาห์ “มิคาเอล โดลสเต็น” หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ ระบุว่า ไทม์ไลน์การพัฒนาครั้งนี้ถือว่ารวดเร็วกว่าที่ผ่านมามาก โดยอีก 1-2 สัปดาห์จะเริ่มกระบวนการประเมินขนาดยาที่จะใช้ในผู้ป่วยแล้ว

ขณะที่สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า กองทัพจีนได้เข้าร่วมการแข่งขันนี้ด้วย นำโดยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ซึ่งได้รับอนุญาตให้เริ่มการทดลองวัคซีนในระดับการวิจัยทางคลินิก หลังจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และ “โมเดอน่า” บริษัทไบโอเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐ ประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองวัคซีนเพียงไม่กี่วัน นอกจากนี้ยังมีบริษัทยาและสตาร์ตอัพอีกหลายรายทั่วโลกพยายามพัฒนาวัคซีนของตนเองเช่นกัน

สำหรับด้านยารักษาและการตรวจเชื้อนั้น สหพันธ์ผู้ผลิตและสมาคมเภสัชกรรมนานาชาติ ระบุว่าปัจจุบันทั่วโลกกำลังมีการทดลองยาทั้งใหม่และเก่ารวมกันกว่า 80 เคส เพื่อหายาที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำยาสำหรับโรคอื่น ๆ อาทิ ไข้หวัดใหญ่, อีโบลา และเอดส์ มาทดลองรักษาผู้ป่วยโควิด-19

โดย “ฟูจิฟิล์ม” ยักษ์วงการถ่ายภาพ กำลังเป็นหนึ่งในบริษัทที่กำลังถูกจับตามอง หลังรัฐบาลจีนประกาศว่ายา Avigan สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพัฒนาโดยโทยามะ เคมิคัล บริษัทในเครือฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้ง มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มกำลังผลิตและแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ รวมถึงเร่งพัฒนากระบวนการตรวจหาไวรัสโควิด-19 แบบใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้านบริษัทไบโอเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐ “กิลีด ไซเอนเซส” (Gilead Sciences) กำลังทดลองใช้ยา Remdesivir ที่เป็นยาสำหรับรักษาอีโบลา มารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่น ๆ รวมประมาณ 1,000 คน คาดว่าจะได้ผลลัพธ์ในเดือนเมษายนนี้ เช่นเดียวกับยา Kaletra ของบริษัท แอบบ์วี (AbbVie) ที่กำลังมีการทดลองกับผู้ป่วยในจีน

ขณะเดียวกัน “แคนอน” รายใหญ่ในวงการถ่ายภาพอีกราย จับมือกับมหาวิทยาลัยนางาซากิและสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ พัฒนาเครื่องตรวจไวรัส ซึ่งสามารถรู้ผลได้ในเวลาเพียง 40 นาที และมีน้ำหนักเพียง 2.4 กิโลกรัม โดยขณะนี้สิ้นสุดขั้นตอนการทดลองแล้ว และเตรียมส่งให้กับโรงพยาบาลและวิทยาลัยแพทย์หลายแห่งทั่วญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ยาหลายตัวจะมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่ก็มาพร้อมผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น Avigan ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกคลอดผิดปกติ ส่วน Kaletra พบว่าทำให้ตับเสียหายและเกิดตับอ่อนอักเสบ ในบางราย ในขณะที่ผลข้างเคียงของ Remdesivir ยังไม่ชัดเจน แต่อาจทำให้เกิดภาวะความดันเลือดต่ำ

ทั้งนี้ต้องติดตามว่ายาและวัคซีนสำหรับโควิด-19 จะถูกค้นพบและผลิตออกมาเมื่อไหร่และโดยใคร แต่เชื่อว่าน่าจะช่วยให้การระบาดหยุดลงได้