เปิดเงื่อนไข “เปิดห้าง-ร้านอาหาร-ร้านตัดผม” เมื่อไหร่ จังหวัดไหนก่อน

เปิดห้างได้เมื่อไหร่
แฟ้มภาพ

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเงื่อนไข เปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม ขึ้นอยู่กับความพร้อมและสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด โดยอาจเริ่มทดลองให้สถานประกอบการบางประเภทกลับมาเปิดใน 3-4 จังหวัด ได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

จากกรณีที่รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือ “แผนเปิดเมือง” ให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการ หลังสิ้นสุดการล็อกดาวน์ในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งรวมถึงห้างสรรพสินค้า สนามกีฬากลางแจ้ง, ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านทำผม ที่คาดหวังว่าจะสามารถกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆ ในการป้องกันอย่างเข้มงวดนั้น

วันที่ 20 เม.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมแนวทางการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีทีมที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม

ไม่เปิดพร้อมกันทั่วประเทศ

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมว่า มาตรการต่างๆ จะไม่เดินพร้อมกันหมด 77 จังหวัด จะแบ่งเป็นพื้นที่ตามข้อมูลของ สธ. ที่จัดกลุ่มจังหวัด คือ กลุ่ม 32 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 2 สัปดาห์ ถือว่ามีการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค. แต่อาจทดลอง 3-4 จังหวัดช่วงปลายเดือน เม.ย.ก่อน ขึ้นกับความพร้อม

จากนั้น 2 สัปดาห์ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยดี ก็จะเป็นกลุ่ม 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปราย คือ กลาง พ.ค. เพราะถึงเวลานั้นจังหวัดเหล่านี้คงมีผู้ป่วยน้อย และจะเป็นกลุ่ม 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็จะเป็น 2 สัปดาห์ถัดไป คือ ต้น มิ.ย.

“หากทำแบบนี้ก็เปลี่ยนผ่านแบบระมัดระวัง ไม่ฉับไว ไม่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกที่ 2-3 แบบต่างประเทศ ทำแบบนี้ได้จะเกิดสมดุลเรื่องความปลอดภัย การใช้ชีวิตที่จำเป็น ธุรกิจก็เดินหน้าได้ แต่เราไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมทุกอย่าง ต่อไปเวลาไปตัดผม ไม่ได้นั่งรอกัน อาจโทรศัพท์นัดมา เพราะไม่อยากให้มาต่อกัน หรือไปกินข้าว ก็อาจต้องนั่งแค่จำนวนน้อย และห่างกัน ภาคธุรกิจกำลังดำเนินการ ซึ่งทางสธ.คณะแพทย์ก็เห็นตรงกันว่าน่าจะเดินทางไปในทางนี้” นพ.คำนวณ กล่าว

เมื่อถามถึงห้างสรรพสินค้า นพ.คำนวณ กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ มีความเสี่ยงปานกลางสามารถจัดการได้ให้ความเสี่ยงลดลงมา อย่างเมื่อก่อนเข้าไปกันทีเยอะมาก ก็อาจต้องกำหนดเลยว่า 1 ชั่วโมง คนเข้าไปได้กี่คน จะได้มั่นใจว่ามีระยะห่าง และจะต้องไม่มีการจัดรายการนาทีทองชิงโชค เอาคนมารุมกัน ทำไม่ได้

ส่วนห้องน้ำ เป็นจุดเล็กๆ ต้องไม่มีการไปเข้าคิวรอแออัด ซึ่งภาคธุรกิจกำลังออกแบบ และหารือ สธ.ดูมาตรฐาน ถ้าผ่านก็ต้องเสนอไปให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ถ้าจังหวัดเห็นว่าสถานการณ์จังหวัดดี ข้อเสนอดี ทำได้จริงก็เริ่มผ่อนปรน

เมือถามถึงการเปิดใน กทม.และนนทบุรี นพ.คำนวณ กล่าวว่า ทั้ง 2 จังหวัดนี้น่าจะเป็นกลุ่มสุดท้าย และพิจารณาเป็นบางพื้นที่

กลุ่มจังหวัดแบ่งตามระดับการระบาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุม ภาคผนวกที่ 1 ระดับการระบาดของจังหวัด จะมีการอัพเดตทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือน เม.ย. อีกครั้ง เบื้องต้นข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. พบว่า

กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน 32 จังหวัด ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี

กลุ่มที่ 2 พบผู้ป่วยในรอบ 14 วันแบบประปรายในวงจำกัดไม่เกิน 5 ราย ต่อสัปดาห์ สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ รวม 38 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันย้อนหลัง แบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องมากว่า 5 รายต่อสัปดาห์และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี และยะลา