โควิดคืนชีพธุรกิจยุค 50 “โรงหนังไดรฟ์อิน” กลับมาฮิต

คอลัมน์ Market Move

แม้ไวรัสโควิด-19 จะทำให้หลายธุรกิจต้องสะดุด แต่อีกด้านหนึ่งวิกฤตครั้งนี้กลับช่วยให้ธุรกิจที่ใกล้จะล้มหายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง

หนึ่งในนั้นคือ โรงภาพยนตร์ไดรฟ์อิน (drive-in cinema) ที่ผู้ชมจะขับรถเข้าไปจอดเพื่อชมภาพยนตร์บนจอขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในลานกว้างกลางแจ้ง คล้ายกับหนังกลางแปลงในบ้านเรา

โรงหนังไดรฟ์อินเคยเฟื่องฟูมากในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายยุค ค.ศ. 1950s หรือประมาณ พ.ศ. 2498-2503 และ ณ จุดสูงสุดในปี 2501 ทั่วสหรัฐอเมริกามีจำนวนจอมากถึง 4,063 จอ แต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วมีเหลืออยู่เพียงประมาณ 549 จอ จากโรงหนังไดรฟ์อิน 305 แห่งเท่านั้น เพราะพ่ายแพ้ให้กับความสะดวกสบายของโรงภาพยนตร์สมัยใหม่ และความบันเทิงนอกบ้านรูปแบบอื่น ๆ

แต่การระบาดของโควิด-19 ที่บังคับให้โรงภาพยนตร์ธรรมดาทุกแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว ได้ช่วยปลุกความนิยมของโรงภาพยนตร์แบบไดรฟ์อินขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยข้อได้เปรียบที่ผู้ชมจะนั่งในรถของตนเอง จึงตอบโจทย์มาตรการรักษาระยะห่าง หรือ social distancing ได้เป็นอย่างดี

นอกจากในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินผุดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น กรุงดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งของธุรกิจโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินว่า จำนวนยอดขายตั๋วของบรรดาโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินในสหรัฐพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา บางแห่งยอดขายเพิ่มเท่าตัว และสามารถขายตั๋วได้หมดในไม่กี่นาที

“โจส แฟรงก์” เจ้าของโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อิน “บลูสตาร์ไลต์” ที่มี 2 สาขาในรัฐเทกซัส กล่าวว่า ตั๋วของสาขาที่เปิดอยู่สามารถขายหมดได้อย่างรวดเร็ว และยังมีดีมานด์เหลือจนต้องเพิ่มรอบ พร้อมเตรียมขยายไลน์ธุรกิจทั้งเพิ่มภาพยนตร์อินดี้ และภาพยนตร์สั้นจากงานเซาท์บายเซาท์เวสต์ (SXSW) การแสดงสดเดี่ยวไมโครโฟน ไปจนถึงงานอีเวนต์อื่น ๆ จากเดิมที่ฉายเพียงภาพยนตร์คลาสสิก เพื่อรับดีมานด์ช่วงศูนย์ประชุม-โรงละครถูกปิด

เชื่อว่าดีมานด์ในธุรกิจนี้น่าจะสูงไปอีก 1-2 ปี เพราะแม้โรงภาพยนตร์ธรรมดาจะกลับมาเปิด แต่ผู้บริโภคน่าจะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย อีกทั้งยังมีอุปสรรคเรื่องมาตรการระยะห่างที่อาจทำให้การใช้บริการยุ่งยากมากขึ้น ทำให้โรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

สอดคล้องกับ “จอน วัสกี” เจ้าของโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินในรัฐฟลอริดา ที่กล่าวว่า ในช่วงนี้ของปีมักจะมีตั๋วเหลือทุกรอบ แต่ปีนี้วันศุกร์และเสาร์ คนเต็มจนต้องปฏิเสธลูกค้าไปจำนวนหนึ่ง หลายคนขับรถมาไกล 2-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ที่สำคัญ โรงหนังไดรฟ์อินเกือบทุกแห่งก็ได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรค เช่น จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ เพิ่มระยะห่างระหว่างจุดจอดรถแต่ละคัน ให้พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกัน ห้ามผู้ชมลงจากรถโดยไม่จำเป็น ฯลฯ หลายรายเร่งเสริมจุดขายใหม่ ๆ เช่น สตาร์ไลต์ไดรฟ์อินเร่งพัฒนาระบบให้ผู้ชมสามารถสั่งอาหาร-เครื่องดื่มผ่านเอสเอ็มเอส หรือโทรศัพท์ได้อีกด้วย

จากข้อมูลของสมาคมเจ้าของโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อิน (United Drive-In Theatre Owners Association-UDITOA) ระบุเมื่อเดือนมีนาคมว่า สหรัฐอเมริกามีโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินที่ยังเปิดให้บริการอยู่ประมาณ 30 แห่ง จาก 305 แห่ง เนื่องจากบางรัฐสั่งปิดโรงภาพยนตร์ชนิดนี้ด้วย แต่มีแนวโน้มว่าหลังจากนี้ผู้ให้บริการจะทยอยกลับมาเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว เมืองดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่โรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินกำลังได้รับความนิยม หลังเชนโรงภาพยนตร์ “วีโอเอ็กซ์ ซีเนม่า” (VOX Cinema) ตัดสินใจใช้ลานจอดรถชั้นดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้ามอลล์ ออฟ ดิ เอมิเรตส์ (Mall of the Emirates) เป็นโรงภาพยนตร์ไดรฟ์อินที่สามารถรองรับรถยนต์ได้ 75 คัน สนนค่าตั๋วพร้อมป๊อปคอร์น ขนมและเครื่องดื่มประมาณ 50 เหรียญสหรัฐต่อคัน


ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า ในห้วงวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนี้ย่อมมีโอกาสเสมอ และวิกฤตครั้งนี้ก็ช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจโรงหนังไดรฟ์อินที่กำลังจะหายไปจากวงการให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกคำรบหนึ่ง