เดอะมอลล์ลุยต่อโปรเจ็กต์ยักษ์ ทุ่มรีแบรนด์-พลิกโฉมสาขาเขย่าค้าปลีก

“เดอะมอลล์” ประกาศเดินหน้าลงทุนตามแผน “ทุกโปรเจ็กต์” จับมือยักษ์เอ็นเตอร์เทนเมนต์โลก AEG เหนียวแน่น มั่นใจศักยภาพประเทศไทยระยะยาว พร้อมนำบทเรียนจากวิกฤต เรียนรู้ new normal ปรับสูตรความว้าว ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ สร้างปรากฏการณ์เขย่าค้าปลีกต่อไม่หยุด ก่อนเผยสาเหตุเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำธุรกิจมา

แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้การดิสรัปต์เร็วขึ้น และเข้ามาพลิกโฉมการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้าที่ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตใหม่ของคน (new normal) การเข้ามามีบทบาทของแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจากภาครัฐที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

ความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนใจ “แม่ทัพเดอะมอลล์กรุ๊ป” ให้ล้มเลิกการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Bangkok Mall, The Emsphere และการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของเดอะมอลล์ รามคำแหง พร้อมกับการเดินหน้าขับเคลื่อนแพลตฟอร์มอย่าง O2O (offline to online) รับมือกับดิจิทัลดิสรัปต์อย่างเต็มที่ ตลอดจนการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ผ่านโลโก้ใหม่ ครั้งแรกในรอบ 39 ปี พร้อม ๆ กับการอวดโฉมสาขาที่ทยอยเปิดพื้นที่หลังรีโนเวตเสร็จอย่าง “เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน” ที่จะเป็นเวิลด์คลาสช็อปปิ้งลำดับต่อไป

เดินหน้าสร้าง Phenomenon

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้ง 3 โปรเจ็กต์ยังคงเดินหน้าต่อ ทั้งโครงการแบงค็อกมอลล์ (Bangkok Mall) เมกะโปรเจ็กต์บนทำเลยุทธศาสตร์เส้นบางนา-ตราด ที่อยู่บริเวณจุดตัดถนนบางนา-ตราดกับสุขุมวิท เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอุดมสุข และบางนา

ตลอดจนโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere) บนทำเลใจกลางสุขุมวิท เพื่อสร้างย่าน “เอ็ม ดิสทริก” ขึ้นร่วมกับดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ และการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของเดอะมอลล์ รามคำแหง ให้เป็น mixed use complex

“โปรเจ็กต์ที่มี goal แล้วก็ต้องทำต่อไป แต่ทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมัน new normal แล้ว ก็ต้องดูว่าควรจะเป็นสเกลไหน ดู piority ในการใช้เงินด้วย เพราะสภาพเศรษฐกิจแบบนี้จะไปทำทีเดียวก็ไม่ได้ และต้องดูสถานะของผู้ประกอบการด้วยว่าเค้าพร้อมหรือไม่ ต้องประคับประคองกันไป”

AEG เชื่อมั่นระยะยาว

รวมถึงการจับมือกับ AEG กรุ๊ป ผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงและกีฬาอันดับหนึ่งของโลก ในการทำเวิลด์คลาส อารีน่า 2 แห่ง คือ “EM LIVE ที่ศูนย์การค้าดิ เอ็มสเฟียร์ และ “BANGKOK ARENA” ในโครงการแบงค็อกมอลล์

นางสาวศุภลักษณ์ระบุว่า แม้ AEG จะเจอวิกฤตจากทั่วโลก ทำให้โดนแคนเซิลงานไปกว่า 5,000 งาน แต่บริษัทยังคงมองว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่ บวกกับจังหวะที่โครงการจะเปิดตัวอีกราว 2-3 ปี ก็จะเป็นช่วงที่ทุกอย่างเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว ทางบริษัทจึงเชื่อมั่นว่ายังคงมีโอกาส และจะไม่ใช่ความเสี่ยงในระยะยาว

“เราไม่มีเงินกู้เลย การผ่านวิกฤต IMF ทำให้เราเรียนรู้เลยว่า อย่าไปทำอะไรที่มันเกินตัว เพราะการกู้เงินเยอะ ๆ มันเสี่ยง แต่การระมัดระวังเกินไปก็อาจจะทำให้เราโตช้า แต่ก็ถือว่าอะไรเล็ก ๆ เราไม่ทำ มันไม่คุ้มเงิน ทำทีเดียว 3 โปรเจ็กต์แล้วให้มันแข็งแรง สร้าง phenomenon ให้เกิดขึ้น”

สาขาปัจจุบันต้องทำให้ดีที่สุด

สำหรับโจทย์ในการทำงานในขณะนี้มีแผนว่าจะต้องทำให้สาขาปัจจุบันที่มีอยู่ทำได้ดีที่สุด โดยเฉพาะโปรเจ็กต์ของการรีโนเวต เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2562 จึงทยอยเสร็จและเปิดตัวเป็นเฟส ๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการชั้น 4-7 ไปแล้ว ตั้งแต่โรงหนังของ SFX การปรับพื้นที่ของโซนร้านอาหาร มีการนำเอาแบรนด์ฟู้ดคอร์ตกรูเมต์ อีทส์ และร้านสตรีตฟู้ดชื่อดังกว่า 30 ร้านเข้ามาเติม พร้อมกับมีพื้นที่ในส่วนของโคเวิร์กกิ้งสเปซ ฯลฯ

ล่าสุดได้เปิดพื้นที่บริเวณชั้น 3 ใหม่อีกครั้ง ในส่วนของ men’s & lifestyle ที่รวมแบรนด์เอาไว้มากกว่า 350 แบรนด์ ในคอนเซ็ปต์การจัดรูปแบบร้านค้าให้เป็น seamless shopping experience ให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ตลอดจนอาคารเรือนกระจกด้านข้างที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโซนร้านอาหาร ในบรรยากาศแบบ glass house ก็จะทยอยเปิดตัวในเฟสต่อไป

โลโก้ใหม่ครั้งแรกในรอบ 39 ปี

การรีโนเวตเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน นอกจากจะทำให้บรรยากาศของการมาห้างสรรพสินค้ามีความสนุกขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Mall Lifestore, A Happy Place To Live Life ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในตัว “โลโก้” ของแบรนด์ ซึ่งแม่ทัพเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา

“เราอยาก simplify ให้มันไปได้กับยุคออนไลน์ ทั้ง digitalization และ globalization และเอาไปใช้กับอย่างอื่นที่มีได้ง่ายขึ้น เดิมเวลาเอาไปใช้กับอย่างอื่นมันค่อนข้างยาก อันนี้เป็นตัว M ที่เหมือนกับ M card กำลังปรับให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น และโลโก้ใหม่นี้ก็จะถูกนำไปใช้กับเดอะมอลล์ทุกสาขาด้วย”

โฉมใหม่ออนไลน์ปลายปี

ออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าสัดส่วนของยอดขายที่มาจากออนไลน์ยังอยู่ที่ไม่เกิน 10% และผู้บริโภคยังคงต้องการบริการจากช่องทางอื่น ๆ ร่วมด้วย เดอะมอลล์จึงเพิ่มเติมบริการอย่าง call to order บริการ drive thru รวมถึง chat & shop เพื่อมาเติมเต็มทุกการช็อปปิ้ง

ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการพัฒนาอีคอมเมิร์ซที่คาดว่าจะพร้อมเปิดได้ภายในช่วงปลายปีนี้

“new normal ได้เร่งให้คนมาใช้บริการต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น O2O offline to online ต้องทำ เพราะมันมาที่แพลตฟอร์มนี้แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ได้ ก็ต้องมี uniqueness และ outstanding”

Winning Formular วันนี้

หัวเรือใหญ่เดอะมอลล์กรุ๊ปยังกล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ทั้งโควิด digitalization และเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ทุกองค์กรต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ฉลาดหลักแหลม ระมัดระวัง รู้กำลังตัวเอง และประเมินให้ได้

“ครั้งนี้เป็นศึกที่หนักมาก เพราะถนนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว It’s uncertainty everywhere ต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ทุกอย่าง ‘winning’ สำหรับเราคือ ‘unity’ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มาจาก 3 เอ็นเนอร์จี้อย่าง love ความรักในองค์กร faith ความศรัทธาว่าเราต้องชนะให้ได้ และ togetherness ความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในองค์กร”

“No surrender?only one way victory แพ้ไม่ได้…ต้องชนะ” นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช กล่าวในที่สุด