วงการภาพยนตร์วุ่นไม่เลิก พิษ “นิวนอร์มอล” ลามถึงสายหนัง

File Photo (Photo by VALERIE MACON / AFP)

แม้โรงภาพยนตร์ในไทยและอีกหลายประเทศจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแล้ว

แต่สำหรับวงการธุรกิจภาพยนตร์หลังจากนี้ยังมีความท้าทายที่ซับซ้อนยิ่งกว่าเหลืออยู่ โดยเฉพาะการวัดความสำเร็จของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ที่อาจจะต้องยกเครื่องกันใหม่หมด เพราะนิวนอร์มอล อย่างการเว้นระยะห่างทางสังคม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ตัวแปรในการวัดเปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อการวางแผนธุรกิจของผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า ขณะนี้บรรดาผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา เริ่มแสดงความกังวลถึงประเด็นการวัดความสำเร็จของภาพยนตร์แต่ละเรื่องในยุคหลังคลายล็อกดาวน์ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้โรงภาพยนตร์รองรับผู้ชมได้น้อยลง ขณะเดียวกันจำนวนผู้ชมมีแนวโน้มจะน้อยกว่าปกติจากปัญหาความเชื่อมั่น ทำให้เครื่องมือการวัดเดิม อย่างยอดขายตั๋วไม่สามารถใช้งานได้

“แดน มินต์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของดีเอ็มจี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ อธิบายว่า เดิมอุตสาหกรรมภาพยนตร์สามารถวัดผลได้ง่ายมาก เพราะมีการเปิดเผยตัวเลขต่าง ๆ อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นทุนสร้างและงบฯโฆษณา, จำนวนโรง-รอบฉาย ไปจนถึงยอดขายตั๋ว โดยหากรายได้จากยอดขายตั๋วมากกว่าทุนสร้างบวกงบฯโฆษณาก็เท่ากับว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังสามารถเปรียบเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ได้ง่ายด้วย

แต่หลังจากนี้ จำนวนผู้ชมในแต่ละโรงภาพยนตร์จะลดลงไปมาก ทำให้การวัดว่าภาพยนตร์ที่จะเข้าโรงฉายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ละเรื่องประสบความสำเร็จหรือไม่ และทำกำไร-ขาดทุนมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องยาก ทำให้การวางแผนธุรกิจทั้งการลงทุนสร้างหรือปรับโมเดลการจัดจำหน่ายยากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในสหรัฐอาจถึงจุดจบหลัง “เอเอ็มซี เธียเตอร์ส” (AMCTheaters) เช่น โรงภาพยนตร์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐออกมายอมรับว่า ไม่มั่นใจว่าจะสามารถประคองธุรกิจไปได้จนถึงสิ้นปี เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องหลังมาตรการเว้นระยะห่างทำให้รับลูกค้าได้น้อยลง ขณะที่จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายลดลง เพราะการผลิตชะงักช่วงล็อกดาวน์ รวมถึงสตูดิโอภาพยนตร์หลายแห่งมีแนวโน้มจะหันไปพึ่งสตรีมมิ่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจสตรีมมิ่งจะได้รับความนิยมสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จนเหมือนว่าสตรีมมิ่งกลายเป็นช่องทางเผยแพร่หนังดังแทนที่โรงภาพยนตร์ได้แล้ว

แต่ในทางธุรกิจนั้น สตรีมมิ่งทั้งแบบรายเดือนและออนดีมานด์ยังต้องปรับตัวอีกมากถึงจะสามารถแทนที่โรงภาพยนตร์ได้ โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการวัดความสำเร็จของภาพยนตร์ เนื่องจากปัจจุบันสตรีมมิ่งแต่ละรายไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชมของตนมากนัก อีกทั้งไม่มีมาตรฐานกลางของข้อมูลที่จะสะท้อนถึงความสำเร็จของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แตกต่างจากโรงภาพยนตร์ที่มียอดขายตั๋วเป็นข้อมูลมาตรฐานกลาง

ขณะที่สตรีมมิ่งแต่ละรายมีคำจำกัดความของ “จำนวนผู้ชม” แตกต่างกัน เช่น เน็ตฟลิกซ์จะนับเฉพาะยอดผู้ชมที่ดูคอนเทนต์นั้น ๆ อย่างน้อย 2 นาที ส่วนรายอื่นอาจใช้เงื่อนไขแตกต่างออกไปทำให้ข้อมูลนี้ไม่สามารถเปรียบเทียบข้ามแพลตฟอร์มได้

“มิเชล แพชเทอร์” นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยเว็บบุช กล่าวว่า ตัวเลขผู้ชมคอนเทนต์บนเน็ตฟลิกซ์นั้นไม่มีประโยชน์ในทางธุรกิจ เพราะเน็ตฟลิกซ์คิดราคาแบบเหมาจ่ายรายเดือน จำนวนผู้ชมจึงไม่สามารถแปลงเป็นรายได้ได้ แบบยอดขายตั๋วของโรงภาพยนตร์


อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างสตรีมมิ่งที่ดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจบีบให้บรรดาสตรีมมิ่งจับมือกันสร้างมาตรฐานข้อมูลกลางขึ้น เพื่อเปรียบเทียบศักยภาพของแต่ละราย รวมถึงดึงดูดคอนเทนต์จากบรรดาผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ให้มาฉายบนแพลตฟอร์มของตนก็เป็นได้