‘ซื้อ-เช่า’ แฟชั่นมือสองบูม ตอบโจทย์คนกระเป๋าแฟบหลังโควิด

Laura A. Oda/Bay Area News Group
Market Move

ในขณะที่วงการค้าปลีกในสหรัฐกำลังวุ่นวายกับการเร่งฟื้นตัวหลังเลิกล็อกดาวน์ และบางพื้นที่เตรียมรับมือการระบาดรอบ 2

แต่ส่วนเล็ก ๆ ในวงการค้าปลีกอย่างเซ็กเมนต์ขาย-เช่าสินค้าแฟชั่นมือสองนั้น กลับมีแนวโน้มก้าวกระโดดหลังการปลดล็อกดาวน์จะทำให้ผู้บริโภคต้องการเสื้อผ้าดี ๆ สำหรับใส่ไปร่วมงานสังคม อย่างงานแต่ง พิธีทางศาสนา ฯลฯ ที่ถูกอั้นมาตั้งแต่ต้นปี แต่เม็ดเงินในกระเป๋าอาจไม่เอื้ออำนวย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตามข้อมูลของ “ทรีดอัพ” (ThredUP) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับขายสินค้าแฟชั่นมือสองระบุว่า ตลาดแฟชั่นมือสองในสหรัฐจะมีมูลค่าเพิ่มจาก 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว เป็น 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอีก 5 ปี หลังจากปี 2562 มีนักช็อปซื้อเสื้อผ้ามือสองมากถึง 64 ล้านคน ผลักดันให้เซ็กเมนต์นี้เติบโตเร็วกว่าตลาดค้าปลีกถึง 25 เท่า

ไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลของบริษัทวิจัยโกลบอลดาต้า ที่เปิดเผยว่า ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าในสหรัฐจะมีมูลค่าถึง 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากคิดรวมกับตลาดขายเสื้อผ้ามือสองจะทำให้มีมูลค่าเป็น 13% ของตลาดเสื้อผ้าสหรัฐที่มีมูลค่า 3.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แนวโน้มที่เกิดขึ้นสวนทางกับความคาดหมายของนักวิเคราะห์การลงทุน และนักการตลาดที่มองว่า เซ็กเมนต์สินค้ามือสองน่าจะหดตัวจากความกังวลเรื่องความเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ของผู้บริโภค

“เจมส์ ไรน์ฮาร์ด” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของทรีดอัพ อธิบายว่า การที่สื่อและหน่วยงานต่าง ๆ อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าโอกาสติดโรคจากเสื้อผ้านั้นน้อยกว่าที่เคยกังวลกันในช่วงแรก คล้ายกับความกังวลที่จะติดโรคจากอาหารดีลิเวอรี่ในช่วงต้นของการระบาด ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีการพูดถึงแล้ว

ขณะเดียวกันกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน ทำให้คนกลุ่มนี้ปลีกตัวจากฟาสต์แฟชั่นและหันมาสนใจใช้เสื้อผ้ามือสองกันมากขึ้น

ทั้งนี้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐเริ่มเห็นเทรนด์นี้ และพยายามเข้ามามีส่วนแบ่งไม่ว่าจะเป็นวอลมาร์ต (Walmart) ที่จับมือกับทรีดอัพ เชื่อมข้อมูลสินค้าเพื่อให้ลูกค้าวอลมาร์ตสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองของทรีดอัพผ่านเว็บไซต์ของยักษ์ค้าปลีกได้ พร้อมบริการ เช่น ส่งฟรีเมื่อยอดซื้อครบ 35 เหรียญสหรัฐ และรับคืนสินค้าที่สาขาวอลมาร์ต

“เดนิส อินแคนเดลา” หัวหน้าผู้บริหารกลุ่มสินค้าแฟชั่นของวอลมาร์ตกล่าวถึงดีลนี้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคโควิด-19 ทำให้ดีมานด์สินค้าแฟชั่นที่ราคาจับต้องง่ายพุ่งสูงขึ้น การจับมือกับแพลตฟอร์มมือสองรายใหญ่ จะช่วยเสริมแกร่งการเป็นช็อปปิ้งเดสติเนชั่นของแบรนด์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่มองว่าที่การจับมือครั้งนี้ไม่เพียงอุดจุดอ่อนด้านสินค้าแฟชั่นด้วยสินค้ากว่า 4.5 หมื่นแบรนด์ ตั้งแต่มาร์ก จาค็อบ ไปจนถึงฟอร์เอเวอร์ 21 แต่ยังช่วยให้ยักษ์ค้าปลีกได้สร้างภาพลักษณ์ด้านรักษ์โลกไปพร้อมกันด้วย เพราะทรีดอัพมีโมเดลธุรกิจทั้งขายและรับซื้อทั้งเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอื่น ๆ

นอกจากนี้ค้าปลีกรายอื่น ๆ ในสหรัฐต่างหันมาจับมือกับยักษ์สินค้ามือสองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแกป (GAP) เมซีส์ (Macy’s) และ เจ.ซี. เพนนี (J.C. Penney)

ไปในทิศทางเดียวกับการบูมของธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าที่กำลังมาแรงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา “ยานา บริกเกอร์” ผู้ก่อตั้ง “อาร์ก ยานา” (Ask Yana) บริการให้เช่าเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น ฉายภาพว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นตัวสร้างดีมานด์ให้กับธุรกิจนี้ เพราะผู้คนพยายามสร้างตัวตนในสังคมออนไลน์ แต่หลายคนมีงบจำกัดจึงหันพึ่งบริการเช่าแทน ช่วยให้มีชุดสวยใส่ไปปาร์ตี้ได้แบบไม่ซ้ำโดยไม่สะเทือนกระเป๋าสตางค์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังปลดล็อกดาวน์ที่งานสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะงานแต่ง พิธีการทางศาสนา และอื่นๆ ที่ถูกอั้นไว้ตั้งแต่ต้นปีจะกลับมาจัด ทำให้ผู้บริโภคต้องการเสื้อผ้าที่เป็นทางการ แต่เงินในกระเป๋าอาจไม่เอื้ออำนวย

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีแววจะได้รับความนิยมสูงขึ้นในยุคหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์