มหากาพย์ 10 เดือน “เจ้าสัวธนินท์” ปิดดีลควบรวม “ซีพี-เทสโก้”

เจ้าสัวธนินท์
แฟ่มภาพ

ตั้งแต่ต้นปี 2563 นับเป็นเวลาร่วม 9 เดือน 20 วัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้หยิบยกประเด็น ควบรวมกิจการ “ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง” กับ “เทสโก้ โลตัส” หรือไม่ หลัง “เทสโก้โลตัส ประเทศไทย” ส่งสัญญาณเปลี่ยนมือ

ย้อนไปเมื่อปี 2540 ตรงกับยุควิกฤตต้มยำกุ้ง “เทสโก้ โลตัส” ได้ถูกปล่อยจากมือของ เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์  ด้วยเหตุผลที่ต้องการอุ้มธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจการทางการเกษตรไว้ ทำให้ต้องตัดสินปล่อยธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่าออกไป

การประกาศขายกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจอย่างมาก จนเกิดการยื้อแย่งกันของ 3 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้ง “เจ้าสัวธนินท์” เจ้าของธุรกิจ “เซเว่นอีเลฟเว่น” “เจ้าสัวเจริญ” ที่มีธุรกิจอย่าง “บิ๊กซี” ในครอบครอง และ “ตระกูล จิราธิวัฒน์” ที่เป็นเจ้าของกลุ่มธุรกิจห้างหรูอย่าง “เซ็นทรัล” มาตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2563

ไม่นาน ในเดือนมีนาคม 2563 นั้นเอง “เจ้าสัวธนินท์” ก็ได้รับชัยชนะในการดีลซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ทั้งในไทยและมาเลเซีย ได้สำเร็จ ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 338,445 ล้านบาท

แน่นอนว่า การดึงอีกหนึ่งตลาดค้าปลีกกลับมาไว้ในมือของ “เจ้าสัวธนินท์” ทำให้ถูกจับตามองว่า จะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือตลาดโดยรวมหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี 2560

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงได้จัดคณะทำงานพิเศษ ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการ รองประธานคณะกรรมการ และกรรมการอีก 5 คน รวม 7 คน จับตาและพิจารณา พร้อมรวบรวมข้อมูลถึงความเหมาะสม โดยใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่ เดือน เม.ย. – ต.ค. เป็นเวลาร่วม 7 เดือน

จนเมื่อ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาได้ข้อสรุปชัดเจนว่า อนุมัติให้ “ซีพี” กับ “เทสโก้ โลตัส” ควบรวมกิจการได้ แบบมีเงื่อนไข “เจ้าสัวธนินท์” ก็ได้รับลูกกลับมาดูแลอีกครั้ง

การปิดดีลควบกิจการครั้งนี้ของ “เจ้าสัวธนินท์” จะได้ขยายธุรกิจค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่ง ที่จากเดิมมีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา

ล่าสุด วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้พิจารณาการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

โดยกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด