เบื้องลึกเบื้องหลัง “แกรมมี่” เขย่าหุ้น 4 เสี่ย คุม 2 ทีวีช่อง

กระแสข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่อง “จีเอ็มเอ็ม 25” เริ่มถูกพูดถึงในแวดวงสื่อมวลชนเมื่อช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา

กระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เริ่มมีการส่งต่อข่าวในโลกออนไลน์ ระบุถึงขั้นว่า “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล” (ผู้ผลิตและเจ้าของช่อง จีเอ็มเอ็ม 25) จะปิดตัวในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่วนช่อง “จีเอ็มเอ็ม 25” จะเหลือไว้สำหรับให้ทางบริษัทในเครือเช่าสถานี เพื่อผลิตรายการต่างๆ

ขณะที่ชะตากรรมของพนักงาน 190 คน ของบริษัท จะได้ไปต่อประมาณ 50 คน โดยถูกโยกไปยังบริษัทอื่นๆ ในเครือ ส่วนที่เหลือจะถูกปลดและได้รับการชดเชยตามปกติ

จิ๊กซอว์ชิ้นนี้เริ่มทำให้ภาพเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อนำมาปะติดปะต่อกับที่ แหล่งข่าวจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องวัน 31 และ จีเอ็มเอ็ม 25 เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของช่องวัน 31 และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนต้นปี 2564

โดยโครงสร้างใหม่ จะมี “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เป็นผู้ดูแลคอนเทนต์โดยรวมของทั้งช่องวัน 31 และ ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จากปัจจุบันที่ทั้งสองช่องนี้แยกทีมบริหารและจัดการคอนเทนต์อยู่ ซึ่งผลจากการปรับครั้งนี้จะทำให้คอนเทนต์ของทั้งสองช่องมีความชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน

ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง วิเคราะห์การเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ในครั้งนี้ว่า เกิดจากการเจรจาร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ 1.นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ถือหุ้นในช่องวัน ในนามบริษัทประนันท์ภรณ์ 50 %  2.ตัวแทนกลุ่มไทยเบฟ ในนาม บจ.สิริดำรงธรรม (บริษัทในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) 3.นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และ 4.นายถกลเกียรติ วีรวรรณ

การหารือดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ ต้องมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ และต้องจัดการบริหารคอนเทนต์ใหม่ทั้ง 2 ช่อง และได้ข้อสรุปในการประชุมบอร์ดบริหารทั้ง 2 ช่องดังกล่าว

ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ถกลเกียรติ วีรวรรณ

โดยช่องวัน เจาะกลุ่มแมส ขณะที่ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เจาะกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่

สำหรับการผลิตคอนเทนต์นั้น ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ผลิตเอง และจ้างผลิต ซึ่งผลจากการรวมครั้งนี้ เบื้องต้นจะใช้ทีมเดิมในการผลิตคอนเทนต์เพื่อป้อนให้ทั้งสอง 2 ช่อง แต่จะครีเอทรายการ คอนเทนต์ที่แตกต่างกันตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละช่อง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและทำให้โพซิสิชั่นนิ่งของช่องชัดเจนขึ้น

“การปรับครั้งนี้จะทำให้คอนเทนต์ของช่องวันและช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ที่เคยทับซ้อนกันอยู่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้า (สินค้า) ตัดสินใจวางแผนโฆษณาได้ง่ายขึ้น”

ซึ่งผลจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้ทำให้ วันที่ 31 ธ.ค นี้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด จะหยุดดำเนินการ ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะให้แกรมมี่เข้ามาบริหารแทน รวมถึงพนักงาน 190 คน ของบริษัท จะได้ทำงานต่อประมาณ 50 คน

บุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดทั่วโลกออนไลน์ 2 วันต่อมา (27 พ.ย.) “บุษบา ดาวเรือง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) คอนเฟิร์มข่าวนี้ ด้วยการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่บริษัทได้จัดประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ที่ประชุมได้มีมติในเรื่องสำคัญ ได้แก่

1.การเข้าทำรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทฯ กรณีบริษัทฯ จะขายหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด (GMMCH) ให้บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ONE) ที่บริษัทฯ ถืออยู่ทั้งหมด จำนวน 9,999,998 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 50% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GMMCH ในราคาหุ้นละ 120 บาท รวมเป็นมูลค่า 1,200,000,000 บาท

โดยในการเจรจาธุรกรรมการขายหุ้น GMMCH บริษัทฯ ตกลงดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท GMMCH ก่อนการโอนหุ้นให้ ONE ซึ่งถ้าการซื้อขายหุ้น GMMCH ระหว่างบริษัทฯ กับ ONE และบริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ไม่สำเร็จ การปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท GMMCH ดังกล่าวจะเป็นอันยกเลิกไป

2.การเข้าทำรายการจำหน่ายไปซึ่งสิทธิในการทำการตลาดการดำเนินการช่อง 25 ให้แก่ GMMCH โดยจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทฯ จำหน่ายหุ้นทั้งหมดของ GMMCH ให้แก่ ONE โดย GMM25 ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัท ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล กรณีการเข้าทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนการตลาดสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25 และสัญญาอนุญาตให้ใช้ชื่อและลิขสิทธิ์รายการทางสถานีโทรทัศน์ซ่อง GMM25 ระหว่าง GMM25 กับ GMMCH สำหรับการดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25

โดย GMM25 จะทำการจัดสรรรายได้บางส่วนไว้เท่ากับ 30% ของรายได้ที่เป็นผลมาจากการดำเนินงานตามสิทธิในการทำการตลาดการดำเนินการช่อง 25 โดยรายได้ในส่วนที่ GMM25 จะจัดสรรไว้ จะไม่เกิน 70 ล้านบาทต่อปื นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 และสิ้นสุดเมื่อใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25 ครบระยะเวลาตามที่กำหนด (รวมถึงช่วงที่มีการต่ออายุ) ซึ่งปัจจุบันใบอนุญาตดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2572 ดังนั้น โดยรวมแล้วตลอดระยะเวลา 9 ปี GMM25 จะได้รับรายได้จากการจัดสรรข้างต้นรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 630,000,000 บาท

3. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของบริษัทฯ โดยค้ำประกันเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินในสัดส่วน 31.27% หรือไม่เกิน 50% ของเงินกู้จำนวน 2,200,000,000 บาทให้กับ ONE เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของ ONE ในฐานะผู้ซื้อซึ่งเป็นการร่วมค้าที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 31.27% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด) สำหรับนำไปชำระราคาซื้อขายหุ้น GMMCH ของธุรกรรมการขายหุ้น GMMCH โดยการค้ำประกันดังกล่าวของบริษัทฯ คิดเป็นวงเงินค้ำประกันจำนวนสูงสุดไม่เกิน 1,100,000,000 บาท

วันเดียวกัน “ถกลเกียรติ” เผยเรื่องเดียวกันนี้ว่า บริษัทได้เข้าซื้อกิจการกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ที่ประกอบด้วย จีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์ 2561, จีเอ็มเอ็มสตูดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล

โดยการเข้าไปซื้อกิจการครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแรงของกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และเป็นการขยายงานแบบครบวงจร ทั้งคอนเทนต์ ทีวีดิจิทัล วิทยุ อีเวนต์ รวมไปถึงออนไลน์ด้วย เพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่ตั้งเป้าเติบโตทุกช่องทางในปีหน้า

ส่วน ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ยังดำเนินการออกอากาศต่อไป โดยกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ รับหน้าที่เป็นตัวแทนทำการตลาด และร่วมผลิตรายการ รวมถึงการเข้าไปเป็นตัวแทนทำการตลาด ให้ช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 มีความชัดเจนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น จะเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีผลกระทบกับบุคลากรบางส่วน ที่ต้องมีการโยกย้ายกระจายไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของบริษัทในเครือตามความเหมาะสม และในส่วนที่มีการปรับลด ได้มีการสื่อสารเจรจาพูดคุยกับพนักงาน พร้อมดูแลตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมทุกขั้นตอน

โดยกลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และผู้บริหารบริษัทในเครือ นำทีมโดย “ถกลเกียรติ” จะแถลงข่าวเพื่อเผยทิศทางการดำเนินธุรกิจ หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 นี้