ค่ายยักษ์ขย่ม…ค้าปลีกระอุ ปูพรมไซซ์เล็ก-เพิ่มดีกรียึด CLMV

เริ่มต้นศักราชใหม่ปี 2564 นี้ แม้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่จะหายไปจากตลาด 1 ราย ผลพวงจากการขายกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 2 พันสาขา ให้กับ “ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์” บริษัทในเครือ ซี.พี. แต่สมรภูมิค้าปลีกไทยที่ยังมีคีย์เพลเยอร์ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ของ 3 ตระกูลเจ้าสัว ประกอบด้วย “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ของกลุ่มจิราธิวัฒน์ “บิ๊กซี” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และ “เซเว่นอีเลฟเว่น-เทสโก้ โลตัส” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และเป็นตลาดที่มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท จะยังมีการแข่งขันที่มีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง

แข่งขันเข้มข้น-ปูพรมไซซ์เล็ก

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสของกลุ่ม ซี.พี.จบลง จากนี้ไปตลาดค้าปลีกจะยังมีดีกรีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการขยายสาขาที่เชื่อว่าผู้ประกอบการ 3 ค่ายใหญ่ จะยังเดินหน้าลงทุนต่อเองตามแผนที่วางไว้ โดยทุกค่ายจะมุ่งไปที่สาขาไซซ์เล็กที่มีความคล่องตัว ลงทุนไม่มาก คืนทุนเร็ว โดยจะขยายออกไปยังต่างจังหวัดในพื้นที่ในระดับอำเภอ ตำบลมากขึ้น

ส่วนภาพของการเปิดสาขาขนาดใหญ่อาจจะมีให้เห็นบ้าง แต่ก็คงเป็นจำนวนไม่มากนัก นอกจากการเปิดสาขาในประเทศแล้ว ทุกค่ายต่างมีแผนจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มบิ๊กซีได้เข้าไปลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว

รายงานข่าวจาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ระบุว่า นอกจากแผนการลงทุนเพื่อขยายสาขาได้ปีละ 700-800 สาขาแล้ว ยังมีแผนจะลงทุนผ่านบริษัทย่อยเพื่อเปิดสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นทั้งในกัมพูชาและลาว ที่บริษัทได้ไลเซนส์เป็นระยะเวลา 30 ปี (ต่อสัญญาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 ปี) แต่จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น การเปิดดำเนินธุรกิจใน 2 ประเทศนี้อาจจะล่าช้ากว่ากำหนดเดิมบ้าง

“การลงทุนซื้อเทสโก้ โลตัสมา แม้ว่าสาขาโลตัส เอ็กซ์เพรส อาจจะมีความทับซ้อนกับสาขาของเซเว่นฯบ้างจำนวนหนึ่ง ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป บางพื้นที่อาจต้องเลือกแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สรุป”

บีเจซีชู “มินิบิ๊กซี” ลุยค้าปลีก

แหล่งข่าวจาก บริษัท บิ๊กซี ซููเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาการแข่งขันระหว่างบิ๊กซีและเทสโก้ โลตัสก็ดุเดือดมากอยู่แล้ว และเชื่อว่าจากนี้ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของเทสโก้ โลตัส การแข่งขันน่าจะยังดุเดือดต่อไปเช่นเดิม ซึ่งบิ๊กซีจะยังเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการต่อเนื่องเพื่อชิงความได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวมค่อนข้างมาก และปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทต้องปรับตัวหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การบริหารจัดการต้นทุน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขยายสาขามินิบิ๊กซีเพิ่มอีก ตั้งเป้าปีละ 200-300 สาขา โดยเน้นเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัด จากปัจจุบันมินิบิ๊กซีมีมากกว่า 1,150 สาขา ส่วนสาขาขนาดใหญ่ เบื้องต้นอาจจะต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อน

สอดคล้องกับ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี บริษัทแม่ของบิ๊กซี ที่กล่าวไว้เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาว่า แผนการลงทุนของบริษัทจะเน้นการปรับแผนให้สอดรับกับสถานการณ์เป็นหลัก โดยจะโฟกัสไปที่ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะการขยายสาขาของมินิบิ๊กซี และมีแผนจะเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนามที่ตลาดยังมีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก

“CRC” เพิ่มดีกรีลงทุนเวียดนาม

รายงานข่าวจาก บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอาร์ซี เปิดเผยว่า จากแนวโน้มตลาดค้าปลีกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ซีอาร์ซีมีแผนจะลงทุน อาทิ ร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท ที่ตั้งเป้าปีละประมาณ 100 สาขา โดยจะเน้นการขยายแฟรนไชส์มากขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 1,000 สาขา รวมทั้งขยายสาขาท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกประมาณ 10 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 200 สาขา

ส่วนตลาดต่างประเทศ เวียดนามถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ มีแผนจะขยายธุรกิจค้าปลีกหลายโมเดล ภายใต้แบรนด์ GO! (เปลี่ยนมาจากบิ๊กซีเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา) ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองหลัก และซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ต่างจังหวัด ภายใต้แบรนด์ลานชี มาร์ท

ทั้งนี้ ซีอาร์ซีตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีจะขยายธุรกิจครอบคลุม 55 จังหวัด จากปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีธุรกิจครอบคลุม 39 จังหวัด จาก 63 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย Hy-per GO! ไฮเปอร์มาร์เก็ต 32 แห่ง ครอบคลุมทุกเมืองสำคัญของเวียดนาม, ซูเปอร์มาร์เก็ต Super GO! 7 แห่ง ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ และลานชี มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต ในต่างจังหวัด 25 แห่ง รวมทั้งมีแผนจะขยายธุรกิจ nonfood อาทิ LookKool, Kubo, SuperSports ต่อเนื่อง

ค้าปลีกท้องถิ่นทยอยผุดสาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการขยายสาขาที่เป็นไซซ์เล็กของค่ายใหญ่ดังกล่าว ค่ายค้าปลีกท้องถิ่นหลาย ๆ รายก็มีความเคลื่อนไหวการลงทุนขยายสาขาไปยังจังหวัดใกล้เคียงเป็นระยะ ๆ อาทิ บริษัท เค แอนด์ เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ “เค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่ง” ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ก็ประกาศแผนจะขยายสาขาใหม่อีกปีละ 3-4 สาขา โดยในปี 2564 เตรียมจะเปิดสาขาเพิ่มในสงขลา 2 แห่ง และตรังอีก 1 แห่ง จากปัจจุบันที่มีสาขามากกว่า 28 สาขา ซึ่งหลัก ๆ ตั้งอยู่ในสงขลา พัทลุง และสตูล

เช่นเดียวกับ บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากเป้าหมายการขยายสาขาในกรุงเทพฯแล้ว ยังมีแผนจะขยายสาขาในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเพิ่ม โดยตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ได้ครบ 1,500 สาขาภายในปี 2566 จากเดิมมีอยู่มากกว่า 400 สาขา

ขณะที่ นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท ตั้งงี่สุ่น ซูเปอร์สโตร์ จำกัด หรือตั้งงี่สุ่น ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่าจะมีโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ แต่บริษัทยังมีแผนจะเดินหน้าลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า (DC) บริเวณด้านหลังของสาขานาดี (สาขาที่ 2) ส่วนแผนการขยายสาขาแห่งใหม่ในจังหวัดใกล้เคียงอาจจะชะลอไว้ก่อน