ธุรกิจกีฬาอู้ฟู่สะพัดแสนล้าน ฟิตเนส-สนามเช่าสะพรั่งรับดีมานด์ทะลัก

กระแสสุขภาพดันธุรกิจกีฬาโตต่อเนื่อง เงินสะพัดกว่า 1 แสนล้าน สินค้าอุปกรณ์กีฬายอดขายละลิ่ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยหน้าใหม่แห่จดทะเบียนกว่า 200 บริษัท ฟิตเนส โยคะ ยิมมวยไทย สนามฟุตบอล สนามฟุตซอล ให้เช่า ผุดเป็นดอกเห็ด ทั้งในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด เสื้อผ้า-อุปกรณ์กีฬา อู้ฟู่ ยอดขายพุ่ง-ออร์เดอร์ ทะลัก

อาจจะกล่าวได้ว่า “ธุรกิจกีฬา” เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ยังสามารถเติบได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่เอื้ออำนวยนัก โดยมีปัจจัยหนุนจากกระแสความใส่ใจดูแลสุขภาพ การออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงกระแสความนิยมของการแข่งขันกีฬาหลาย ๆ อย่าง ทั้งฟุตบอลไทยลีก วอลเลย์บอล แบตมินตัน กอล์ฟ ฯลฯ และการมีนักกีฬาไทยที่มีชื่อเสียงหลายคนเป็นแรงบันดาลใจ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตตามไปด้วย

ธุรกิจกีฬาเงินสะพัดแสนล้าน

ดร.สมทบ ฐิตะฐาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการการกีฬา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกสมาคมการจัดการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบันธุรกิจกีฬาซึ่งมีผู้ประกอบการเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ช่องทางการจำหน่าย ผู้ประกอบการที่เป็นเซอร์วิส เช่น ออร์แกไนเซอร์ รับจัดการแข่งขัน รวมถึงผู้ให้บริการด้านสถานที่ เช่น สนามกอล์ฟ สนามไดรฟ์กอล์ฟ ฯลฯ ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีธุรกิจใหม่ ๆ ทยอยเกิดตามมาอีกมาก เช่น ฟิตเนส ธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์กีฬา เช่น ทำหน้าที่เก็บข้อมูล สถิติกีฬาต่าง ๆ

ปัจจุบันธุรกิจกีฬามีมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แต่ละปีจะเติบโตอย่างน้อย ๆ 4-5% ในจำนวนนี้ ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจอาหาร อาหารเสริม สำหรับคนออกกำลังกาย คนดูแลสุขภาพ ที่มีไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และยังไม่รวมถึงสินค้าแก็ดเจต นาฬิกา บันทึก-วัด การเต้นของหัวใจ วัดความดัน ที่กำลังเติบโตตามมา

“ปัจจัยสนับสนุน นอกจากกระแสของกีฬาที่บูมมาก ทั้งฟุตบอล วอลเวย์บอล การวิ่ง รวมถึงกีฬาอื่น ๆ แล้ว ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น เมื่อคนมีทัศนคติที่ดีกับเรื่องกีฬาก็จะไปหาอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ตัวเองชอบมาออกกำลังกาย บางคนชอบขี่จักรยานก็ซื้อจักรยานคันละ 7-8 หมื่นบาท บางคนชอบวิ่งก็ซื้อรองเท้าวิ่งคู่ละ 7,000-8,000 บาท และไม่ได้มีเพียงคู่เดียว เป็นต้น ซึ่งทำให้ธุรกิจโตตามมา”

9 เดือนแห่จดทะเบียนกว่า 200

ดร.สมทบกล่าวว่า นอกจากฟุตบอล วิ่ง ฯลฯ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ๆ แล้ว ตอนนี้ก็มีหลาย ๆ ธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นตามมาและได้รับความนิยมมากขึ้น อาทิ ฟิตเนส โยคะ การต่อสู้ (มวยไทย) ธุรกิจให้เช่าสนามฟุตบอล สนามฟุตซอล และกีฬากอล์ฟ ทั้งสนามกอล์ฟ สนามไดรฟ์กอล์ฟ อุปกรณ์กอล์ฟ ก็กำลังกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน) มีผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งบริษัทเกี่ยวกับกีฬาและสินค้ากีฬามากกว่า 200 บริษัท ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นสถานให้บริการ อาทิ ฟิตเนส โยคะ ยิม มวยไทย รวมถึงเปิดสนามฟุตบอล สนามฟุตซอล ให้เช่า รวมทั้งผู้นำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกาย เสื้อผ้าชุดกีฬา เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1-1.5 หมื่นล้านบาทต่อฤดูกาลแข่งขัน กระจายเข้าสู่ธุรกิจทุกภาคส่วนของแต่ละจังหวัดที่ทำการแข่งขัน ตั้งแต่ธุรกิจค้าขายรายย่อยรอบสนาม, ธุรกิจโอท็อป, ธุรกิจโรงแรมที่พัก, ธุรกิจขนส่งมวลชน และธุรกิจท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนคลับของแต่ละสโมสรที่ต้องออกไปเยือนทีมต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจเสื้อผ้ากีฬา

เสื้อผ้า-อุปกรณ์กีฬาเฟื่อง

นายสุนทร สุรีย์เหลืองขจร ผู้จัดการทั่วไปบริหารสินค้า สปอร์ตมอลล์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬายังมีการเติบโตที่ดี ซึ่งตลาดนี้มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท เติบโต 15-20% ทุกปี จากกระแสสุขภาพและความนิยมในการออกกำลังกายที่มีมากขึ้น รวมถึงสปอร์ตแฟชั่นหรือความนิยมแต่งตัวด้วยชุดกีฬาของกลุ่มเจนวาย และวัยเริ่มทำงาน ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ยอดขายของสปอร์ตมอลล์เติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยสาขาในกรุงเทพฯ ลูกค้ามียอดใช้จ่าย 2,500-3,000 บาท/ใบเสร็จ และต่างจังหวัด 2,000-2,500 บาท/ใบเสร็จ และลูกค้าจะมีการซื้อสินค้าทดแทนทุก ๆ 3 เดือน

นอกจากสินค้าที่เกี่ยวกับฟุตบอล วิ่ง และฟิตเนส ที่เติบโตสูง ขณะนี้ สินค้าที่เกี่ยวกับกอล์ฟ เสื้อผ้า รองเท้าและแอ็กเซสซอรี่ ก็เริ่มกลับมาฟื้นกลับอีกครั้ง จากเดิมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เติบโตไม่ถึง 5%

ขณะที่ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า นอกจากตลาดเสื้อผ้าหรือชุดกีฬาในประเทศที่เติบโตแล้ว ที่ผ่านมา โรงงานผลิตเสื้อผ้าหลายแห่งยังมีออร์เดอร์ จากเจ้าของสิขสิทธิ์ชุดกีฬาของสโมสรกีฬาในยุโรปและสหรัฐที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นชุดฟุตบอลของสโมสรยุโรป คาดว่าปีนี้จะมีออร์เดอร์เข้าไทยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัว หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท ปัจจุบันการส่งออกชุดกีฬาคิดเป็น 50% ของมูลค่าส่งออกเสื้อผ้าภาพรวมที่มีจำนวน 90,000 ล้านบาท

ฟิตเนส-โยคะ แรงไม่หยุด

นางอรวรรณ เกลียวปฏินนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ดีมานด์ของฟิตเนสในไทยยังสูงมาก จากความตื่นตัวเรื่องสุขภาพในทุกเพศทุกวัย เห็นได้จากการเติบโตของฟิตเนสทุกโมเดลตั้งแต่แมสถึงไฮเอนด์ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ทั้งในแง่ของสถานที่ออกกำลังกาย และเทรนเนอร์ ทำให้ธุรกิจนี้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ปัจจุบันมีฟิตเนสหลายแห่งได้ขยายสาขา เปิดตัวแบรนด์ใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีรูปแบบบริการหลากหลายทั้งอินดอร์ เอาต์ดอร์ รวมถึงฟิตเนสที่เน้นให้บริการเฉพาะบางกิจกรรม เช่น โยคะ มวยไทย เช่นเดียวกับบริษัทที่เดินหน้าขยายสาขา เพิ่มคลาสและเทรนเนอร์ต่อเนื่องเพื่อรองรับดีมานด์

ขณะที่ นางสาวเบญจพร การุณกรสกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง แอ๊บโซลูท ยู กล่าวว่า นอกจากตลาดฟิตเนสมูลค่า 9,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องประมาณ 10% ต่อปีแล้ว ปัจจุบันกลุ่มบูทีคสตูดิโอที่เน้นการออกกำลังเฉพาะแบบ เช่น โยคะ พิลาทีส ปั่นจักรยาน หรือชกมวย ก็เริ่มได้รับความนิยมและมีการเติบโตมากขึ้น แอ๊บโซลูท ยู จึงมีแผนขยายฐานไปยังกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ปีขึ้นไป และขยายสาขาเพิ่มอีก 5 แห่งภายในสิ้นปี