“ไมเนอร์ฟู้ด” จัดทัพสู้พิษโควิด โหมดีลิเวอรี่ 1112-รักษากระแสเงินสด

“ไมเนอร์ ฟู้ด” ปรับตัวสู้พิษโควิด รับมือความไม่แน่นอน-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คาดตลาดรวมโต 3% ประกาศเข้มควบคุมค่าใช้จ่าย-รักษากระแสเงินสด เดินหน้าพัฒนาโปรดักต์ใหม่ กระหน่ำโปรโมชั่น ช่วยปั๊มยอด ควบคู่เร่งขยายสาขา พร้อมเพิ่มดีกรีดีลิเวอรี่ดึงพันธมิตรร่วมเพียบรับตลาดโตแรง เปิดแผนทุ่มงบฯทำตลาดออนไลน์-ดิจิทัล เจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย เผยแผนสินค้ากลุ่มไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ เพิ่มน้ำหนักออนไลน์-ลุยขายทุกแพลตฟอร์ม

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงการระบาดในรอบ 3 เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทเดินหน้าและเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้วยมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และมุ่งรักษากระแสเงินสด พร้อมหันมาให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนของที่เป็นการลดชั่วคราว และส่วนที่เป็นแผนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นทุนในระยะยาวของบริษัท เพื่อให้สามารถรักษาประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต แม้วิกฤตโควิดจะผ่านไปแล้วก็ตาม รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาทักษะของพนักงานให้สามารถทำงานได้หลายหน้าที่

เพิ่มน้ำหนักดีลิเวอรี่ดันยอดขาย

นายชัยพัฒน์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร หรือไมเนอร์ ฟู้ด ที่วันนี้ตลาดรวมมูลค่าราว ๆ 4 แสนล้านบาท ได้เผชิญกับความยากลำบากในช่วงวิกฤตโควิด คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่มูลค่าตลาดดีลิเวอรี่มีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าตลาดรวมประมาณ 10% ทำให้บริษัทมีแผนเพิ่มน้ำหนักธุรกิจจัดส่งอาหารหรือดีลิเวอรี่ ผ่านแพลตฟอร์ม 1112 Delivery เพื่อรองรับอัตราการสั่งซื้ออาหารผ่านดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคออกมารับประทานอาหารนอกบ้านลดลง ส่งผลให้ยอดขายดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้นกว่า 20% ของยอดขายรวม

ปัจจุบันได้เพิ่มแบรนด์พันธมิตร เช่น เอส แอนด์ พี, เบรดทอล์ค, ซงฟา บักกุ๊ดเต๋ และข้าวมันไก่สิงคโปร์ เซอร์เจนท์ คิทเช่น เข้ามาขายในแพลตฟอร์มเดียวกัน รวมถึงการขยาย “cloud kitchens” หรือครัวกลาง เพื่อให้มีบริการจัดส่งอาหารของแบรนด์ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมในแต่ละเขตการให้บริการ

“นอกจากนี้ แบรนด์ร้านอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้พอร์ตโฟลิโอได้พัฒนาโปรแกรมพฤติกรรมด้านประสบการณ์และความภักดีที่ลูกค้าใหม่มีต่อแบรนด์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างยอดขาย แต่ยังช่วยในการเติบโตระยะยาว ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในทุกตลาดหลัก และยังหันมาให้ความสำคัญในโครงการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและนวัตกรรม เช่น โครงการ Minor Food Innovation Team (M-FIT) โครงการนี้สร้างขึ้นมาเพื่อคิดค้นเมนูใหม่ ๆ และโครงการ Young Entrepreneur Program (YEP) เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามกระแสที่ยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นหลัก”

รุกหนักตลาดไทย-ต่างประเทศ

สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานจากนี้ ไมเนอร์ ฟู้ดยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ลอนช์สู่ตลาดอยู่เป็นระยะ ๆ ควบคู่กับการจัดแคมเปญโปรโมชั่นตามความเหมาะสม ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง โดยหลัก ๆ จะโฟกัสไปยังแบรนด์เบอร์เกอร์คิง บอนชอน และแดรี่ ควีน ควบคู่ไปกับการรักษาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงการหันมาเพิ่มงบฯค่าใช้จ่ายสำหรับการทำตลาดในช่องทางออนไลน์และดิจิทัล เพื่อผลักดันสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

โดยได้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลที่กำลังมาแรง โดยจะมีศูนย์กลางของการบริหารจัดการทีม R&D ตามด้วยระบบการจัดซื้อ การจัดหาวัตถุดิบที่มีหน้าที่สนับสนุนแบรนด์ในเครือ

ด้านร้านอาหารในต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน ปัจจุบันร้านอาหาร ริเวอร์ไซด์ เป็นแบรนด์ทำตลาดหลักมี 110 สาขา ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่วันนี้ได้กลับมาฟื้นตัวและได้ปรับกลยุทธ์การทำงานใหม่ เน้นพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าเมื่อตลาดฟื้นตัว ตามด้วยร้านอาหารในประเทศออสเตรเลียที่มีร้านเดอะ คอฟฟี่ คลับเป็นหัวหอก ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายรวมทุกสาขามากกว่าร้อยละ 95 ท่ามกลางผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่องทางขายดีลิเวอรี่เติบโตขึ้น

นอกจากกลุ่มธุรกิจหลักในประเทศไทย จีน และออสเตรเลียแล้ว ไมเนอร์ ฟู้ดมีร้านอาหาร 332 สาขา ในอีก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง มหาสมุทรอินเดีย ยุโรป และประเทศแคนาดา แม้ว่าตลาดยังเล็กอยู่ แต่ก็ยังมีตลาดดังกล่าวที่ยังมีประสิทธิภาพและมีโอกาสในการสร้างรายได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี อาทิ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ไลฟ์สไตล์ รุกขายออนไลน์

นายชัยพัฒน์ยังกล่าวถึงกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ว่า ปัจจุบันมีจุดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์กว่า 460 แห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้าอเนลโล่, โบเดิ้ม, บอสสินี่, บรูคส์ บราเธอร์ส, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โจเซฟ โจเซฟ, โอวีเอส, แรทลีย์, สโกมาดิ, สวิลลิ่ง ฯลฯ จากนี้ต้องปรับตัวรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

จากนี้จึงได้ต่อยอดจากฐานธุรกิจที่มีอยู่เดิม มุ่งเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ของแบรนด์เองและตลาดออนไลน์แพลตฟอร์มอื่น ๆ พร้อมกับการบริหารจัดการสินค้าใหม่ และสินค้าตกรุ่น กระจายผ่านช่องทางการขายที่หลากหลายเพื่อช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและสภาพคล่องให้บริษัทในระยะยาว

“ตอนนี้ไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงการรวมคลังสินค้า และการบริหารการจัดซื้อจัดจ้างและสินค้าคงเหลือ” นายชัยพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพรวมของกลุ่มธุรกิจ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 58,232 ล้านบาท มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วย ไมเนอร์ โฮเทลส์ ธุรกิจโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ 33,846 ล้านบาท และไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ มีรายได้ 3,588 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานของไมเนอร์ ฟู้ด มีรายได้จากการดำเนินงาน 20,684 ล้านบาท ลดลง 15% โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดให้บริการร้านอาหารเป็นการชั่วคราวหรือเปิดให้บริการเพียงบางส่วน โดยสัดส่วนรายได้จากการดำเนินงานตามกลุ่มธุรกิจร้านอาหารปี 2563 แบ่งเป็นร้านอาหารในไทย 67% จีน 14% ออสเตรเลีย 10% และอื่น ๆ 9%

สำหรับตลาดในประเทศไมเนอร์ ฟู้ดมีแบรนด์ที่หลากหลาย อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, บอนชอน และคอฟฟี่เจอนี่ รวมทั้งสิ้น 1,585 สาขา แบ่งเป็นร้านอาหารที่ลงทุนเอง 954 สาขา ส่วนที่เหลืออีก 631 สาขา เป็นสาขาแฟรนไชส์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 สาขา จากปี 2562 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการขยายสาขาของบอนชอนให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากขึ้น