ตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกซบ “เกรซ” ลดราคาแข่งพลาสติก

พิษโควิด-19 ทุบกระแสรักษ์โลก ผู้ประกอบการหวนใช้พลาสติกคุมต้นทุน “เกรซ” เผยกระทบยอดขายเร่งปรับตัวเพิ่มกำลังผลิตกล่องใส่อาหาร ราคาเข้าถึงง่าย รับดีมานด์ตลาด พร้อมระดมโปรดักต์-นวัตกรรมใหม่เพิ่มช่องทางขายกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เดินหน้าบุกต่างประเทศหลังออร์เดอร์พุ่ง มั่นใจปีนี้สร้างรายได้โตต่อเนื่อง

นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์จากพืชและย่อยสลายได้ ภายใต้แบรนด์ “เกรซ” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบ 3 มีผลต่อกระแสการรณรงค์ลดการใช้โฟมและพลาสติกในประเทศที่เริ่มดรอปลง ถ้าเทียบจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ภาครัฐออกมารณรงค์ให้ประชาชนเลิกใช้ถุงพลาสติก จนเกิดเป็นกระแสให้หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มากขึ้น

แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการรวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าเริ่มนำบรรจุภัณฑ์โฟมและพลาสติกกลับมาใช้อีกรอบ เพราะต้นทุนที่ถูกกว่าประมาณ 2-3 บาท เทียบกับราคาบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

แม้มาตรการห้ามรวมกลุ่มกัน รวมถึงห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้ร้านอาหาร โรงแรม ในแหล่งท่องเที่ยวบางรายหันมาขายดีลิเวอรี่รองรับความต้องการผู้บริโภคที่สั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ในทางกลับกันต้องยอมรับว่าเชนร้านอาหารบางค่ายยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกทดแทน เพราะต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

แน่นอนว่ากระทบต่อภาพรวมบริษัทในแง่ของรายได้ที่ลดลงกว่า 30% และต้องมาเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าประเภทกล่องใส่อาหาร และมีการปรับราคาลดลงเพื่อรองรับความต้องการในตลาดดีลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อออกไปบริษัทจะต้องหันมาทบทวนแผนงานให้สอดรับกับสถานการณ์

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่ย่อยสลายที่มีมูลค่า 2,000-2,400 ล้านบาทมีอัตราการเติบโตชะลอตัว จากปีที่ผ่านมาตลาดมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% เห็นได้จากผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ เริ่มถอยตัวออกไป ส่วนรายใหญ่ต้องปรับตัวทั้งด้านการบริหารและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เหมาะกับการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อรอให้ตลาดกลับมาเติบโตและสามารถส่งสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบกล่องบรรจุอาหารและถุงอาหารพลาสติกปี 2564 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวกว่า 10% ตามความต้องการของตลาดอาหารแบบบริการส่งถึงบ้านที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานจากนี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญในการเพิ่มสินค้าใหม่ เน้นบรรจุภัณฑ์ไบโอหรือบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ 100% เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันบริษัทมีสินค้ามากกว่า 100 รายการ วางจำหน่ายครอบคลุมทั้งโมเดิร์นเทรด เทรดิชั่นนอลเทรด รวมถึงสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังจับมือกับพันธมิตรเพื่อผลิตสินค้าในลักษณะโคแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ จากที่ผ่านมาได้ร่วมกับสตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกา ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เป็นต้น

หลังจากโควิดคลี่คลายเตรียมขยายตลาดและช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ด้วยการส่งทีมประชาสัมพันธ์ ทีมเซลส์ ลงพื้นที่ติดต่อกับลูกค้าเป้าหมาย

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ปัจจุบันบริษัทส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ในช่วงที่โควิดระบาดไปในหลายประเทศ ทำให้ออร์เดอร์สั่งสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ประเทศในยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี-อาเซียน และเพื่อรองรับออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมาบริษัทลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต ทั้งขยายโรงงานเดิมและสร้างโรงงานใหม่ ทำให้กำลังผลิตเพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้น/วัน จากเดิม 1 ล้านชิ้น/วัน

“ปี 2563 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานอาจไม่ได้เติบโตตามเป้าประมาณ 1,000 ล้านบาทที่วางไว้ แต่ปีนี้มั่นใจว่าการปรับตัวที่รวดเร็วจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 50% ต่างประเทศ 50%


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังปี 2564 การแพร่ระบาดจะเริ่มคลี่คลายลง กระแสบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะกลับมาอีกครั้ง ประกอบกับทางการมีนโยบายการลด-เลิกใช้พลาสติก อาทิ ถุงหูหิ้ว, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติกบาง, หลอดพลาสติก เป็นต้น โดยให้เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบ 100% ทดแทนภายในปี 2565” นายแพทย์วีรฉัตรกล่าว