ปิดผับบาร์ ธุรกิจบันเทิง สูญ 1.3 แสนล้าน ชง 8 ข้อ จี้ ศบค.คลายล็อก 1 ก.ค.นี้

สถานบันเทิง

“ปริญ พานิชภักดิ์” นำทีมผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจบันเทิง-ธุรกิจกลางคืน” ส่งจดหมายเปิดผนึกยื่น 8 ข้อ ร้อง “ชวน หลีกภัย” เสนอ ศบค. คลายล็อกเปิดให้บริการ 1 ก.ค.-ผ่อนปรนขายแอลกอฮอล์-พักชำระหนี้พร้อมเร่งเยียวยากลุ่มอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้องทั้ง นักร้อง นักดนตรี อีเวนต์ ฯลฯ ต่อลมหายใจผู้ประกอบการทั้งระบบ หลังโควิด-19 กระทบหนักสูญเม็ดเงินทั้งระบบ 1.3 แสนล้านบาท

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดย “นายปริญ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ประสานงาน นำกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพธุรกิจบันเทิง ธุรกิจกลางคืน, ตัวแทนนักดนตรีกลางคืน, ตัวแทนกลุ่มผู้จัดงานอีเวนต์, ตัวแทนอาชีพอิสระ และตัวแทนชมรมคราฟต์เบียร์ เข้ายื่นจดหมายผ่อนปรนมาตรการควบคุม 8 ข้อ

เพื่อต่ออายุผู้ประกอบการทั้งระบบให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ปิดกิจการ ถึง “นายชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา เพื่อยื่นแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจบันเทิงธุรกิจกลางคืน-ธุรกิจบันเทิง และกลุ่มอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้อง หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดมาตลอดระยะเวลา 200 วันที่ผ่านมา และทางผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด

แต่หลังคำสั่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ต้องตกอยู่ในสภาวะตกงานและประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยจากการสั่งปิดดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 1.3 แสนล้านบาท และส่งผลให้ธุรกิจปิดกิจการ ปัญหาว่างงาน ตามมาทั้งระบบ

ยื่น 8 ข้อเสนอผ่อนปรนมาตรการ

ข้อเสนอเพื่อผ่อนปรน-เยียวยา ทั้ง 8 ข้อ มีดังนี้

  1. ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นระยะเวลา 14 วัน และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กักตัว
  2. ข้อให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
  3. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ เนื่องจากไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยในการก่อโรค
  4. ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
  5. พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้ผู้ประกอบการ ผู้บริการ และ/หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็ว
  6. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และ/หรือ การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและรักษาการจ้างงานพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่ได้รับโอกาสให้เขาถึงแหล่งการเงินเหล่านี้ พร้อมลดหย่อนภาษี
  7. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือ ประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง เสนอแนะ พูดคุย ในกระบวนการออกมาตราการและนโยบายต่าง ๆ
  8. เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการจากประชาชนที่เดือดร้อน

ทั้งนี้ การยื่นขอเสนอดังกล่าวเพื่อเรียกร้องแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจกลางคืน, ธุรกิจบันเทิง หลังตลอดช่วง 50 วันที่ผ่านมา (ภายหลังการระบาดระลอก 3) ตั้งแต่ ศบค.มีคำสั่งปิดภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแบบเหมารวม แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้มีจำนวนลดลง ทำให้สรุปได้ว่า ภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงไม่ใช่สาเหตุหลักของการระบาดของโรคโควิด-19 แต่กลับได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม

ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า 200 วันที่ผ่านมา หลัง ศบค.เริ่มมีคำสั่งปิดสถานบันเทิงและยกเลิกการจัดกิจกรรม จากการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ครั้งภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงจะเป็นกลุ่มอาชีพอันดับแรกที่ถูกสั่งปิดและเป็นกลุ่มอาชีพสุดท้ายที่ได้กลับมาดำเนินกิจการเสมอ โดยผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

แต่จากคำสั่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มอาชีพดังกล่าวต้องตกอยู่ในสภาวะตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีสาเหตุจากการหละหลวมของผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย