กัญชา: อย.ออกใบอนุญาตสำหรับองค์กร พุ่ง 2,210 ราย

อย.อนุมัติใบขอกัญชาพุ่งสองพัน
ภาพจาก Pixabay

กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล่าสุดได้ออกใบอนุญาตกัญชาสำหรับองค์กรต่าง ๆ ไปแล้วจำนวน 2,210 ราย

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง จากบัญชียาเสพติดให้โทษ รวมถึงการอนุญาตให้นำใบ, กิ่ง, ก้าน, ราก, เปลือก, ลำต้น, เส้นใย ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งให้ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา-กัญชง ไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรคได้ ทำให้มีนักธุรกิจจำนวนมากที่สนใจและทยอยเข้ามายื่นขอจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจกัญชาเป็นระยะ ๆ

โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม) มีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง มากกว่า 80 บริษัท ส่วนใหญ่แจ้งวัตถุประสงค์ ทั้งปลูก-แปรรูป ผลิตจำหน่าย นำเข้า-ส่งออก เมล็ดพันธุ์ สารสกัดจากกัญชา, การวิจัยพืชกัญชา พืชกัญชง, ที่ปรึกษาการออกแบบ ตรวจสอบ และติดตั้ง ระบบตรวจติดตามย้อนกลับในพืชกัญชา, การผลิตสารสกัด รับจ้างผลิตสารสกัด กัญชง กัญชา, การส่งออกนำเข้าผลิตภัณฑ์ สายพันธุ์ จากพืชกัญชง กัญชา เป็นต้น

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะที่รายงานข่าวจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล่าสุดได้ออกใบอนุญาตกัญชาสำหรับองค์กรต่าง ๆ ไปแล้วจำนวน 2,210 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน) จากเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีผู้ได้รับใบอนุญาตประมาณ 1,407 ราย

ในจำนวนนี้เป็นใบอนุญาตครอบครอง 412 ราย หลัก ๆ จะเป็นในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยสมุนไพร (กรมวิทยาศาสตร์ฯ) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ,

ใบอนุญาตนำเข้า 12 ราย อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น

ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) 214 ราย ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์แผนไทย สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นต้น

ใบอนุญาตจำหน่าย 1,518 ราย เช่น กรมการแพทย์ (สถาบันสุขภาพเด็ก) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยนเรศวร (คณะเภสัชศาสตร์) โรงพยาบาลบางมด คลินิกต่าง ๆ อาทิ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด (เอกายาสหคลินิก บุรีรัมย์) บริษัท ฮักษาเมดิคอล คลินิกหมอรพี จำกัด (รพีคลินิกเวชกรรม เชียงใหม่) บริษัท โรงพยาบาลบางปะกอก 8 จำกัด บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) (ศูนย์การแพทย์ลาดพร้าว สหคลินิค กรุงเทพมหานคร)

และ ใบอนุญาตผลิต (ปรุง) 5 ราย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และใบอนุญาตผลิต แปรรูป/สกัด 37 ราย ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษา ทั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต (คณะเภสัชศาสตร์) มหาวิทยาลัยนเรศวร (คณะเภสัชศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์