หมอบุญ จ่อเซ็นสัญญา เปิดพันธมิตร นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

หมอบุญดีลไบออนเทค
(Photo by JAVIER TORRES / AFP)

หมอบุญ เตรียมเซ็นสัญญาวัคซีนจากไบออนเทค 20 ล้านโดส เย็นนี้ คาดผ่าน อย.ไทยรวดเร็ว ส่วนโนวาแวกซ์ได้ปีหน้า

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 กรณี นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยความร่วมมมือกับองค์กรใหญ่ของภาครัฐ เจรจาซื้อวัคซีนชนิด mRNA จาก บริษัท ไบออนเทค จำนวน 20 ล้านโดส โดยจะลงนามกันในวันนี้ ซึ่งจะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการยืนยันจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อและนำเข้า จากนั้นรอให้สหรัฐอนุมัติ

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นายแพทย์บุญ ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD ช่อง 30 ว่า ในช่วงเย็นวันนี้จะมีการยืนยันเรื่องตัวเลขและเซ็นสัญญากัน ยืนยันว่าการนำเข้าวัคซีนจะต้องเป็น 2 จากองค์กร 5 องค์กรของรัฐในไทยที่มีสิทธินำเข้าวัคซีน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และขั้นตอนสุดท้ายในการนำเข้านั้นจะสามารถทำได้ในวันสองวันนี้

นายแพทย์บุญกล่าวอีกว่า ทางโรงพยาบาลไม่สามารถดีลกับบริษัทไฟเซอร์ได้ เนื่องจากไฟเซอร์ประเทศไทยมีสัญญากับรัฐบาลไทยแล้ว จึงต้องเลี่ยงมาเซ็นกับบริษัทไบออนเทคของเยอรมนี ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นตัวยาที่เหมือนกัน ทาง อย.ก็ยืนยันว่าใช้เวลาน้อยมากในการพิจารณาขึ้นทะเบียน

สำหรับโนวาแวกซ์นั้นยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับซีดีซี สหรัฐนั้นเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ที่สหรัฐอเมริกาจองเอาไว้ อังกฤษจองเอาไว้ ตนก็เลยจองไว้ด้วย แต่กว่าจะได้ก็จะเป็นปีหน้า

ส่วนกรณีที่องค์การเภสัชกรรมฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทเรื่องวัคซีนโมเดอร์นา นายแพทย์บุญ กล่าวว่า ราคาของวัคซีนโมเดอร์นา ตนดูตัวอย่างของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ซื้อมาในราคา 17-18 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 584 บาทไทย ส่วนของเราขาย 1,100 บาท จึงตั้งคำถามว่าในนั้นมีค่าอะไรบ้าง? แต่ใครจะไปสนใจ เพราะเป็นเงินเข้ารัฐ

“องค์การเภสัชก็ชี้แจงมา ทำไมจะต้องเดือดร้อนว่าต้นทุนเท่าไหร่ แต่ถ้าต้องขึ้นศาลก็ดีใจ ในแง่หนึ่งจะได้ไปดูกันว่าซื้อซิโนแวคเท่าไหร่ แอสตร้าฯเท่าไหร่ โมเดอร์นาเท่าไหร่ ก็ว่ากันมา สำหรับสัญญาซื้อขายปกตินั้นเปิดเผยไม่ได้ แต่ถ้าศาลสั่งก็ต้องเปิดเผย”

นอกจากนี้ นายแพทย์บุญ ยังยืนยันว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นของตนนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อพิธีกรถามว่า วัคซีนโมเดอร์นานั้นดีลโดยเอกชนไม่ใช่หรือ นายแพทย์บุญตอบว่า เอกชนดีลทั้งหมดเช่นเดียวกับไฟเซอร์ 20 ล้านโดสที่จะดีลเข้ามา เมื่อเมษายน ตนเคยบอกว่าตนขอจ่ายเงินคนเดียวกัน หากใครจะมาซื้อ เอกชนจะมาซื้อก็ยินดีขายราคาต้นทุน เพราะไม่ได้อยากทำกำไรจากความทุกข์ของคนอื่น

โดยหลังเดือนเมษายน นายแพทย์บุญระบุว่า เคยส่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลธนบุรี ถือเช็คไปให้องค์การเภสัช องค์การเภสัชก็ไม่รับ โดยในเวลานั้นราคาโมเดอร์นาอยู่ที่ราว 12 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

นายแพทย์บุญระบุถึงชื่อของ “พรพิมล กาญจนลักษณ์” ที่ถูกพูดถึงว่ามีส่วนในการดีลวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา ว่า พรพิมลเป็นล็อบบี้ยิสต์ ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย อยู่กรุงวอชิงตันมาหลายปี เคยช่วยรัฐบาลหลายเรื่อง เวลานี้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย โดยคุณพรพิมลรู้จักผู้ใหญ่ในสหรัฐระดับเบอร์ 1-2-3 โดยนอกจากการดีลไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสแล้ว ยังมีบทบาทช่วยอีกหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องไฟเซอร์ 20 ล้านโดสล่าสุดนั้น คุณพรพิมลไม่ได้มีส่วนโดยตรง แต่กรณีนี้มีทีมเฉพาะที่คอยเจรจาเรื่องวัคซีนลอตล่าสุดนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สาระสำคัญอยู่ที่ ข้อ 3 ที่ระบุให้ 5 หน่วยงาน ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด

โดย 5 หน่วยงานดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. กรมควบคุมโรค
  2. องค์การเภสัชกรรม
  3. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
  4. สภากาชาดไทย
  5. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ