วิ่งฝุ่นตลบ สธ.หาวัคซีนเพิ่ม งัดกฎหมายผ่าทางตันห้ามส่งออก

ผ่าทางตันวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าฯมาไม่ตามนัด สธ.-รัฐบาล ดิ้นหาวัคซีนเพิ่มฝุ่นตลบ เจรจาขอเพิ่มสัดส่วนให้ไทย งัด พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ บีบโควตาส่งออก ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี คาดขัดตาทัพใช้วัคซีนบริจาคจากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส

จากไทม์ไลน์การจัดส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้รับการยืนยันว่า จะไม่เป็นไปตามแผน จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในปีนี้ อาจจะต้องขยายไปเป็นภายในเดือนพฤษภาคม 2565 เนื่องจากปัญหากำลังการผลิตที่มีจำกัดและต้องจัดแบ่งสัดส่วนเพื่อส่งมอบให้ประเทศในอาเซียนหลายประเทศที่สั่งซื้อไว้ ประกอบกับเงื่อนไขในสัญญาที่ทางการทำไว้ แอสตร้าเซนเนก้า หลัก ๆ เป็นเพียงการกำหนดเฉพาะจำนวนหรือปริมาณวัคซีน แต่ไม่ได้ระบุข้อกำหนดในเรื่องของระยะเวลาการส่งชัดเจน เป็นที่มาของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ต้องเร่งประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ และกำหนดให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดหาวัคซีนปี 2564 ให้ได้ 100 ล้านโดส

และยกการร่างประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนออกนอกราชอาณาจักร ภายใต้มาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 รวมทั้งได้มอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน เพื่อให้ส่งมอบวัคซีนเพิ่มให้เหมาะสม

หวั่นวัคซีนสู้โควิดถึงทางตัน

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการสาธารณสุขรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปัญหาการส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งการส่งมอบที่ล่าช้าและมีจำนวนที่ไม่มากตามที่กำหนด เนื่องจากต้องแบ่งการผลิตส่วนหนึ่งเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ส่งผลให้ภาพรวมของวัคซีน-19 ของประเทศถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและใกล้จะถึงทางตัน เนื่องจากแอสตร้าฯที่รัฐบาลประกาศใช้เป็นวัคซีนหลัก ในการฉีดให้กับประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ที่ผ่านมามียอดการจัดส่งให้รัฐบาลได้เพียง 6-7 ล้านโดส จากยอดการจัดซื้อทั้งหมดประมาณ 61 ล้านโดส และขณะนี้ได้ทยอยฉีดไปมากกว่า 6 ล้านโดสแล้ว

ขณะนี้แอสตร้าฯก็ยังไม่มีความชัดเจนในการส่งมอบวัคซีน สำหรับเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่ตามแผนจะเร่งฉีดให้ได้ 10 ล้านโดส แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการส่งมอบวัคซีนลอตใหม่มาให้ ประกอบกับจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ ทั้งซิโนแวคที่ขณะนี้มีเหลืออยู่ประมาณ 6-7 ล้านโดส จากจำนวน 14.5 ล้านโดส ขณะที่แอสตร้าฯอาจจะเหลือประมาณ 6-8 แสนโดส จากจำนวน 6-7 ล้านโดส จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต้องดำเนินการเพื่อหาวัคซีนมาให้เพียงพอโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับกระแสความตื่นกลัวผลกระทบจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคที่เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดีมานด์ของแอสตร้าฯมีมากขึ้น

“ส่วนวัคซีนอื่น ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแลส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ที่คืบหน้ามากที่สุดก็คือ ไฟเซอร์ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาซื้อจำนวน 20 ล้านโดส แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนจะเข้ามาเมื่อไหร่ เนื่องจากตอนนี้หลาย ๆ ประเทศโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ และทำให้มีความต้องการวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น”

ใช้ กม.กำหนดสัดส่วนส่งออก

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้การแก้ปัญหาเรื่องวัคซีนที่เกิดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น เบื้องต้นคณะกรรมการควบคุมโรคแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เบื้องต้นจะมีการเจรจาเพื่อขอให้แอสตร้าฯเพิ่มสัดส่วนการส่งมอบให้มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้

ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากยอดการผลิตส่วนหนึ่งต้องส่งมอบให้กับประเทศคู่สัญญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กลับมามีการระบาดรอบใหม่อีก ขณะที่โรงงานผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์มีขีดความจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิต เนื่องจากเป็นโรงงานที่เพิ่งจะเริ่มผลิตวัคซีน

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะใช้เรื่องของกฎหมายมาบังคับใช้ โดยใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการออกประกาศกำหนด เพื่้อบังคับให้คู่สัญญาและบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ต้องผลิตวัคซีนตามชนิดและปริมาณที่กำหนด รวมถึงการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ กำหนดบทลงโทษ ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ (มาตรา 58) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วัคซีนบริจาคญี่ปุ่นขัดตาทัพ

แหล่งข่าวรายนี้ยังแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ สธ.อาจจะต้องนำวัคซีนบริจาคแอสตร้าฯ ที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาคมาให้ 1.05 ล้านโดสมาฉีดไปก่อน ส่วนกรณีของวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐบริจาค 1.5 ล้านโดส ขณะนี้ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถนำมาฉีดให้ประชาชนทั่วไปได้ โดยตามแผนจะนำไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็น booster dose หรือเข็มที่ 3, กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง, กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต

“อีกแนวทางหนึ่ง อาจจะเป็นการโยกหรือยืมยอดวัคซีนแอสตร้าฯของบางประเทศที่การระบาดไม่มาก หรือยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้มาเพื่อซัพพอร์ตการฉีดในประเทศไทย และเมื่อไทยมีหรือได้รับมอบวัคซีนแล้วก็ส่งมอบคืนให้ประเทศนั้น ๆ ไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันสยามไบโอไซเอนซ์ สามารถผลิตวัคซีนแอสตร้าฯได้ประมาณ 15 ล้านโดส/เดือน และส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยประมาณ 40% ของกำลังการผลิต หรือประมาณ 6 ล้านต่อเดือน โดยก่อนหน้านี้ นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เคยระบุว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะดำเนินการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ ในต้นเดือนกรกฎาคม โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต จะสำรองไว้เพื่อผลิตวัคซีนให้กับประเทศไทย ตามคำสั่งซื้อรวม 61 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของวัคซีนจำนวน 180 ล้านโดส