ญนน์ โภคทรัพย์ แม่ทัพซีอาร์ซี ‘วัคซีนพลาดเป้า ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย’

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในแต่ละวันที่พุ่งทะลุกว่า 1 หมื่นราย ยอดเสียชีวิตทะลุหลักร้อยต่อวัน จน ศบค.ต้องประกาศขยายล็อกดาวน์ เพิ่มมาตรการเข้มงวดสูงสุดใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ควบคุมการเดินทาง กำหนดให้ทำงานที่บ้าน ประกาศเวลาเคอร์ฟิว ฯลฯ ส่งผลให้ภาคธุรกิจค้าปลีก ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.4 แสนล้านบาท ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบเศรษฐกิจ ข้อเสนอแนะแนวทางการฟื้นธุรกิจ รวมถึงทิศทางค้าปลีกไทยนับจากนี้ไป

โควิดระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

“ญนน์” เริ่มต้นบทสนทนากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยการสะท้อนภาพการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจประเทศว่า จนถึงวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจเป็นอัมพาตไปแล้วกว่าค่อนตัว เพราะการฉีดวัคซีนพลาดเป้า ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งทำนิวไฮในแต่ละวันที่พุ่งหลักหมื่นราย และเสียชีวิตวันละนับร้อย ขณะเดียวกันไวรัสก็กลายพันธุ์ มีสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ระบบสาธารณสุขของประเทศเริ่มรับไม่ไหว

ขณะที่การขยายมาตรการ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” ต่อเนื่อง แม้จะมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจ เศรษฐกิจ เสียหายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การสื่อสารข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ทำให้ขาดความเชื่อมั่นและมั่นใจ และคาดว่าเศรษฐกิจส่อแวว “ฟุบลึกและยาว” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว จากนี้ทุกภาคส่วนต้องเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้น เครื่องยนต์หลักที่เหลือไม่กี่ตัว เช่น การส่งออก ที่ยังเดินเครื่องได้อยู่ อาจหยุดชะงัก หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่สร้างโดมิโนเอฟเฟ็กต์ไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เหลือให้พังทั้งระบบ

หวั่นกระทบค้าปลีกซึมยาว

คีย์แมนของซีอาร์ซียังระบุด้วยว่า เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ไล่เรียงไปตั้งแต่การจ้างงานไปจนถึงภาคการลงทุนทั้งจากเอกชนและนักลงทุนต่างชาติที่ถูกเลื่อนออกไป ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความรู้สึกและการจับจ่ายของผู้บริโภค และอาจจะสร้างมูลค่าความเสียหายมากกว่าที่คาด เพราะเพียงแค่การประกาศล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ก็สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล เพราะธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ดังกล่าวคือหัวใจสำคัญของค้าปลีกทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 60-70% ของ GDP ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวอีกยาว

โจทย์ใหญ่ต่อจากนี้ คือ การบริหารจัดการแผนของรัฐบาล ในแง่ของการเร่งมือควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีแบบแผน การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เป็นระบบมากที่สุด เพราะนั่นคือ กุญแจสำคัญ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยผงกหัวขึ้นอีกครั้ง

มาตรการ ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว อาจช่วยลดการแพร่ระบาดได้ แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญที่ต้องทำตอนนี้ คือ การออกมาตรการที่ตรงจุดทั้งเชิงรุกและเชิงรับ มีความโปร่งใส และสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจน เร่ง speed การทำงาน และต้องกล้าคิดใหม่ ทำใหม่ จัดสรรงบประมาณที่ถูกต้องเพื่อจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้ประชาชน

อีกด้านหนึ่งรัฐบาลต้องเร่งเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน และเพิ่มนโยบายการคลัง สินเชื่อ เยียวยา ควบคู่กันไป เพื่อพยุงภาคธุรกิจให้อยู่รอดและพยุงการจ้างงานไว้ให้ได้ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตให้กลับมาปกติโดยเร็วที่สุด

แนะวิกฤตคือบทเรียนฟื้นองค์กร

นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีอาร์ซีกล่าวด้วยว่า การจะผลักดันองค์กรและธุรกิจให้ก้าวกระโดดจากวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ สิ่งสำคัญ คือ ความไม่ประมาท “ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตูม” ต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ กล้าลองผิดลองถูก กล้าที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ พร้อมที่จะปรับตัวและขับเคลื่อน innovation โดยไม่ยึดติดกับ business model แบบเดิม ๆ

ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำตัวเองให้เบาที่สุดใช้ความระมัดระวังด้านการลงทุน และกอดเงินสดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ต้องเปิดรับข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้สิ่งที่ผู้อื่นทำ ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง รวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา

“ขณะนี้เราอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราต้องรู้จักทิ้ง รู้จักเก็บ รู้จักเสีย โฟกัสจุดแข็งของเราที่มีความแตกต่างจากคนอื่น การเข้ามาของโควิด-19 ถือเป็นการ reset ความคิด ที่จะช่วยสอนให้เราปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”

อย่างไรก็ดี หลังการระบาดของโควิด-19 เทรนด์ของธุรกิจรีเทลโลกจะเปลี่ยนแปลงไปใน 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ 1.customer ลูกค้าจะเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง คือเป็นผู้ควบคุม และมีความซับซ้อนมากขึ้น 2.channel ธุรกิจค้าปลีกต้องสร้าง retail ecosystem ที่จะเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ 3.experience ต้องสร้างประสบการณ์แบบครบวงจรเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ และสร้าง Chare of voice ที่บอกต่อ ๆ กัน และ 4.technology ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการทำ data mining เพื่อนำมาสร้างนวัตกรรม และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการแบบเฉพาะบุคคล (personalization)

ร่วมแรงร่วมใจฟื้น ศก.ประเทศ

“ญนน์” กล่าวในตอนท้ายว่า การฟื้นเศรษฐกิจนับจากนี้ไป โดยส่วนตัวมองว่าจะต้องอาศัยแนวคิดหลายส่วนเข้ามาประกอบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ได้แก่ collaboration หรือการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน, การเปิดใจ open-mind พร้อมรับฟังความคิดเห็น กล้ารื้อ โละ ล้างแนวคิดเดิม ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า, visionary ต้องมีวิสัยทัศน์แบบ think big, do bigger คือ คิดการใหญ่ แต่ต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ใหญ่กว่า, impact ทุก ๆ การกระทำ ต้องคิดถึงผลกระทบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ทั้งพนักงานคู่ค้า ผู้ถือหุ้น และชุมชน

รวมไปถึงการ discipline การรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะพื้นฐานหลักของการมีวินัย จะทำให้มี direction ที่ชัดเจน


“เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและมองไปข้างหน้าว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป ผู้ประกอบการและธุรกิจไทยยังต้องเตรียมรับมือต่อกับวิกฤตของ new economy ที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาลเองก็ต้องหันมาพิจารณาปกป้องธุรกิจบางประเภทไว้สำหรับคนไทย และทบทวนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประกอบอาชีพของคนไทย และชาวต่างชาติให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อไม่ให้คนไทยเสียเปรียบ และมีแต้มต่อในการประกอบอาชีพและการแข่งขันในอนาคต” ซีอีโอซีอาร์ซีย้ำในตอนท้าย