รสนาส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าการ สตง. และอธิบดีกรมบัญชีกลาง ขอให้ตรวจสอบสัญญาจัดซื้อ ATK

ชุดตรวจ ATK
(แฟ้มภาพ)ประกอบข่าว

รสนายื่น สตง. และกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบจีพีโอปล่อยนิติบุคคลอื่นสวมสิทธิทำสัญญาจัดซื้อ ATK ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสื ถึงผู้ว่าการ สตง. และอธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้ตรวจสอบการทำสัญญาจัดซื้อ ATK

โดยเนื้อหาระบุว่า ดิฉันทำหนังสือถึงผู้ว่าการ สตง. และอธิบดีกรมบัญชีกลาง ขอให้ทั้ง 2 หน่วยงานตรวจสอบการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ที่องค์การเภสัชกรรมให้บริษัทที่ไมได้เข้าประมูล ไม่ได้ชนะการประมูล ซึ่งไม่สามารถลงนามเป็นคู่สัญญามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยดิฉันส่งเป็นหนังสือด่วนลงทะเบียนตอบรับ

เนื้อหาในหนังสือทั้งสองฉบับมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก และในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 องค์การ ได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท (จากที่เชิญไป 24 บริษัท) เข้าร่วมเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคาปรากฏว่าบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ตามเอกสารแนบ (1) และ (2)

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 องค์การเภสัชกรรมได้ออกเอกสารตามแนบ (3) ว่าได้ทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นหลักฐานชัดแจ้งว่าองค์การเภสัชกรรมมิได้ทำสัญญาซื้อ ATK กับบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งมิใช่บริษัทที่ชนะการประมูล

แม้บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จะเป็นผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ออสท์แลนด์ฯ องค์การเภสัชกรรมก็ไม่สามารถทำสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เพราะบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัท ออสท์แลนด์ฯ และไม่ได้เสนอตัวเข้าประมูล

ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ตามบทบัญญัติว่า “ให้หน่วยงานของรัฐกําหนดเป็นเงื่อนไขในประกาศและเอกสารเชิญชวนว่าผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอต้องแสดงหลักฐานถึงขีดความสามารถและความพร้อมที่ตนมีอยู่ในวันยื่นข้อเสนอด้วย” และตามที่ อภ.ให้ข่าวว่าคณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท

บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯไม่ได้เข้าร่วมเป็นผู้ประมูล และไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูล จึงเป็นผู้ที่ไม่สามารถลงนามเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมได้

ข้าพเจ้าเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ATK ขององค์การเภสัชกรรมน่าจะไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 และกฎหมายกับระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจทำให้รัฐเกิดความเสียหายในอนาคต

จึงขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน/กรมบัญชีกลาง เข้ามาตรวจสอบก่อนที่จะเกิดกระบวนการส่งมอบ ATK ซึ่งจะส่งมอบภายใน 14 วัน หลังจากการลงนามสัญญา