แม็คโคร ผนึก โลตัส เปิดยุทธ์ศาสตร์รุกค้าปลีก-ค้าส่ง ระดับภูมิภาค

‘แม็คโคร’ เปิดราคาเสนอขายหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับสิทธิและนักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 4-9 ธ.ค.นี้ พร้อมวางยุทธศาสตร์ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเติบโตในระดับภูมิภาค พร้อมส่งโลตัส สยายปีกมาเลเซียต่อเนื่อง ควบการพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ดันยอดขายออนไลน์เพิ่ม 20% ใน 3 ปี

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 หลังกลุ่มซีพี ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งด้วยการโยกกิจการกลุ่ม Lotus’s ในประเทศไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 217,949 ล้านบาท ไปอยู่ภายใต้ “แม็คโคร” เพื่อขยายช่องทางค้าปลีกเครือซีพีในระดับภูมิภาค ล่าสุด บมจ.สยามแม็คโคร กำหนดราคาเสนอขายของหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 62,205 ล้านบาท (รวมมูลค่าของหุ้นส่วนเกิน) โดยเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิ และนักลงทุนรายย่อย ได้จองซื้อระหว่างวันที่ 4 – 9 ธันวาคมนี้

โดย นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร เปิดเผยว่า แม็คโครและกลุ่มโลตัสส์ได้วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียด้านแพลตฟอร์มที่ผสานทุกช่องทางทั้งการค้าส่งแบบ B2B (Business to Business) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer) โดยการใช้ศักยภาพจากฐานธุรกิจในประเทศไทย สู่การขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคอาเซียน โดยจะพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ยังจะให้การสนับสนุน SMEs และผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทย ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ และมุ่งพัฒนาระบบนิเวศออนไลน์ ของการค้าปลีกรูปแบบใหม่ โดยให้บริการแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย แบบ B2B นอกจากนี้มีแผนลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick.com แอปพลิเคชัน Makro Application และ Makro Line Official Account

ขณะที่แผนการขยายสาขาแม็คโครจะเดินหน้าขยายเฉลี่ยปีละ 5 สาขา ขณะที่ในต่างประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 จะเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง สาขาเฉลี่ยปีละ 4-6 สาขา หลังต้องชะลอเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดมานาน โดยจะโฟกัสการทำตลาดในภูมิภาคอาเซี่ยน จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่แล้วใน กัมพูชา เมียนมา อินเดีย และจีน

ด้านนายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ Lotus’s ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสะท้อนการเป็น “SMART Retailer”

โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งผ่านช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) ไร้รอยต่อ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

“จากสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีภาพรวมที่ดีขึ้น มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว หลังจากเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะส่งผลดีต่อการเติบโตของกลุ่มโลตัสส์ โดยภาพรวมอัตราการเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กลุ่มโลตัสส์ได้มองเห็นโอกาสในช่วง COVID-19”

โดยการเปิดสาขา Lotus’s Go Fresh ซึ่งเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีสินค้าครบครัน ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ในบ้าน มุมกาแฟสดและเครื่องดื่ม รวมทั้งสินค้าทรู เพื่อตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

รวมถึงจะพัฒนาร้านค้าปลีกขนาดใหญ่พร้อมด้วยศูนย์การค้าของบริษัทฯ ให้เป็น “Smart Community Hubs” ที่เป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าทุกช่วงอายุและทุกความต้องการ รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญเพื่อผู้ประกอบการใช้เป็นช่องทางเติบโตไปด้วยกัน

นอกจากนี้ในส่วนของประเทศมาเลเซียที่มีการเข้าไปขยายสาขาแล้ว ก็จะเดินหน้าเปิดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยปีหน้ามีแผนขยายสาขาทั้งสิ้น 10 สาขาในมาเลเซีย จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่มั้งสิ้น 60 สาขา

ด้านนายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นประเทศจีน) กล่าวว่า หลังจาก MAKRO และโลตัสส์ เข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจร่วมกัน ทำให้มีการผสานธุรกิจทางด้าน B2B และ B2C เข้าด้วย สร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาด้านการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่จะมีการรุกขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยจะมีการเปิดปรับปรุงแอปพลิเคชั่นและเพิ่มบริการใหม่เข้ามาในช่วงไตรมาส 1/65 โดยเริ่มจากแอปพลิเคชั่นของ MAKRO ก่อน และตามด้วยการปรับปรุงแอปพลิเคชันโลตัสส์ รูปแบบใหม่ในไตรมาส 2/65 ซึ่งการรุกช่องทางการขายผ่านออนไลน์ในครั้งนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของทั้ง MAKRO และโลตัสส์ โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์เป็น 15-20% ในอีก 3 ปี