เทียบประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 3 ยี่ห้อไหนต้าน โอไมครอน ได้นานสุด

ฉีดวัคซีน-covid-19

ดร.อนันต์ เผยผลวิจัยอังกฤษเทียบประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 3 ชี้โอไมครอนทำประสิทธิภาพวัคซีนลดลงเร็ว กลุ่มแอสตร้าฯ 2 เข็ม + mRNA 1 เข็ม-กลุ่มไฟเซอร์ 3 เข็ม ป้องกันได้ 60-70% แต่ภูมิคุ้มกันตกเร็วภายใน 10 สัปดาห์ ระบุไฟเซอร์ 2 เข็ม + โมเดอร์นา 1 เข็ม ประสิทธิภาพสูง ภูมิคุ้มกันตกช้าสุด

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (symptomatic infection) ของไวรัสโอไมครอน ได้ถูกประเมินโดยทีมวิจัยของ UK จากฐานข้อมูลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโอไมครอนจำนวน 68,489 ราย โดยมีใจความสำคัญดังนี้

1.ผู้ที่ได้รับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็มแล้ว ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย mRNA ของ Pfizer หรือ Moderna ประสิทธิภาพการป้องกันโอไมครอนที่ 2-4 สัปดาห์ อยู่ที่ประมาณ 60%

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ไม่นาน และจะตกลงมาเหลือประมาณ 35% สำหรับ Pfizer ใน 10 สัปดาห์หลังเข็ม 3 และ 45% สำหรับ Moderna ที่ 5-9 สัปดาห์ หลังเข็มกระตุ้น

2.ผู้ที่ได้รับการฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม มีทุนสำรองดีกว่ากลุ่มแรก เพราะหลังฉีดเข็ม 3 พบว่าประสิทธิภาพการป้องกันโอไมครอนสูงได้ถึง 70% ภายใน 1 สัปดาห์ (ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของเดนมาร์กที่ได้ออกมาที่ 55%) แต่ประสิทธิภาพตกไวเช่นกัน เพราะตัวเลขที่มากกว่า 10 สัปดาห์หลังกระตุ้นประสิทธิภาพของ PZx3 ลดลงเหลือ 45%

ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของกลุ่มที่กระตุ้นด้วย Moderna คือ PZx2 + MDN ประสิทธิภาพของวัคซีนสูงที่ 70-75% ยาวนานไปถึงมากกว่า 9 สัปดาห์ ซึ่งดูเหมือนว่าสูตรนี้ตกช้ากว่าสูตรอื่น ๆ สำหรับโอไมครอน แต่คนไทยใช้สูตรนี้น้อยมาก

3.ข้อมูลสำหรับคนที่ฉีด Moderna 2 เข็มแบบไม่กระตุ้นพบว่า ประสิทธิภาพป้องกันโอไมครอนที่ 50% ที่ 2-4 สัปดาห์ เริ่มตกมาที่ 30% ที่ 10 สัปดาห์ และ 0% ที่ 20 สัปดาห์ครับ แสดงว่า MDNx2 ก็ต้องกระตุ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ดร.อนันต์ กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักยังมีจำนวนเป็นหลักร้อยในปัจจุบันทีมวิจัยจึงยังไม่สามารถคำนวณประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการป้องกันอาการป่วยหนักของโอไมครอนได้ในระยะนี้ และตัวเลขที่รายงานนี้คือเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพของวัคซีนจาก real-world data ไม่ใช่ค่าการวัดภูมิคุ้มกันในห้องปฏิบัติการ