แอสตร้าเซนเนก้าเดินหน้าผลิตวัคซีนโควิดโอไมครอนโดยเฉพาะ

Photo by Pedro PARDO / AFP

แอสตร้าเซนเนก้าเผยจับมือ ม.ออกซฟอร์ด เดินหน้าผลิตวัคซีนป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ แย้มใช้เทคนิคอะดีโนไวรัสชนิดเดียวกับวัคซีนรุ่นแรก

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า กำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่น ๆ

แซนดี้ ดักลาส หัวหน้ากลุ่มวิจัยของออกซ์ฟอร์ดเผยกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า “เช่นเดียวกับความกังวลในหลาย ๆ ครั้งก่อนหน้านี้ ออกซฟอร์ดได้ร่วมมือกับแอสตร้าฯ เราได้ดำเนินการในเบื้องต้นในการผลิตวัตซีนสำหรับโอไมครอนแล้ว ซึ่งสามารถต่อยอดได้หากได้รับแจ้งข้อมูลใหม่ ๆ”

Photo by Nhac NGUYEN / AFP

หัวหน้าทีมวิจัยออกซฟอร์ดเผยว่า วัคซีนสำหรับโอไมครอนโดยเฉพาะที่เรากำลังพัฒนา โดยหลักการแล้วจะใช้เชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นเวกเตอร์ หรือพาหะในการนำโปรตีนของโคโรนาไวรัสเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าใช้ในวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นแรก

ก่อนหน้านี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ “เดอะ แลนเซ็ต” The Lancet แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการป้องกันติดเชื้อของผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มลดลงในสามเดือน หลังรับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศที่ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นตัวหลักในการแจกจ่ายประชาชน เริ่มใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นบูสเตอร์เข็มสาม

ขณะเดียวกัน แอสตร้าฯได้เปิดเผยผลการวิจัยในห้องแล็บเบื้องต้นที่พบว่า ยาเอวูเชลด์ (Evusheld) ซึ่งเป็นยารักษาโควิดชนิดแอนติบอดีแบบผสม (Antibody Cocktail) ของแอสตร้าเซนเนก้านั้น มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโอไมครอนได้เช่นกัน เช่นเดียวกับไฟเซอร์/ไบออนเทค และโมเดอร์หน้าที่เตรียมดำเนินกระบวนการทดลองทางคลินิกต่อวัคซีนป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะช่วงต้นปีหน้า

ภาพ AFP