รัฐเปิดเกมรุกดัน “กระท่อม” ชิงสมุนไพรโลก

กระท่อม

 

ภาครัฐจุดพลุ “กระท่อม” ลุยตลาดสมุนไพรโลก 1.6 ล้านล้านบาท เตรียมต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งสมุนไพร-อาหารเสริม-เวชสำอาง บุกตลาดยุโรป พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.กระท่อม ส่งเสริมการปลูก-กำหนดทิศทางที่ชัดเจน วางเป้าขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจใหม่ไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เมื่อกระท่อมไม่ใช่สารเสพติด แต่เป็นพืชเศรษฐกิจทำเงิน” ในงานสัมมนาวิชาการ “อนาคตกระท่อม กับการปลดล็อกสู่พืชเศรษฐกิจ” จัดโดยเทคโนโลยีชาวบ้าน โดยมีใจความสำคัญว่า การปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และสามารถปลูก ครอบครอง จำหน่าย ตลอดจนแปรรูปได้ ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยในการลุยตลาดโลก ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล จากโอกาสทางการตลาดของพืชกระท่อมซึ่งสามารถไปได้ในหลายอุตสาหกรรม

ขณะที่ปัจจุบันตลาดรวมสมุนไพรโลกคาดว่ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 1.6 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น ยาสมุนไพร 1.9 แสนล้านบาท อาหารเสริม 6.67 แสนล้านบาท เวชสำอาง 7.4 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย อาทิ สบู่ 2 หมื่นล้านบาท เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 1.07 แสนล้านบาท และตลาดมอร์ฟีน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจากคุณสมบัติหลายประการของพืชกระท่อมของไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่การบำรุงผิว ต้านการอักเสบ ตลอดจนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถเข้าไปทดแทนในทุกอุตสาหกรรมข้างต้นได้ทั้งสิ้น ยิ่งผลักดันให้กระท่อมเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง

“ประเทศไทยมีความได้เปรียบสูง ด้วยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ซึ่งเป็นบริเวณเดียวที่สามารถปลูกกระท่อมได้ดี ทำให้มีโอกาสสูงในการขยายตัวของตลาด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือตลาดยุโรปที่มีการเปิดเสรีกระท่อม โดยมีการนำมาผลิตและใช้แทนมอร์ฟีนสูงถึงปีละ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากกระท่อมไทยมีสารไมทราจีนีน หรือเซเว่นไฮดรอกซี่ สามารถใช้เป็นสารระงับปวดเพื่อใช้แทนมอร์ฟีนได้ ทำให้ตลาดดังกล่าวกลายเป็นตลาดที่เรามีการคาดหวังมากที่สุดนั่นเอง”

นอกจากการจะสร้างรายได้ในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำแล้ว นายสมศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของต้นน้ำยังถือเป็นพืชสร้างรายได้ที่สำคัญ หากพิจารณาจากราคาใบสดที่สูงถึง 300-500 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อผนวกจากข้อมูลการขึ้นทะเบียนไว้เบื้องต้น 135 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 300 คน ปลูกคนละ 3 ต้น จะมีกระท่อมถึง 5,000 ไร่ หรือราว 2 หมื่นต้น และหากนับรวมกับรายที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน รวมแล้วประเทศไทยจะมีผู้ปลูกกระท่อมอยู่ราว 2 หมื่นไร่ทั่วประเทศ และหากแบ่งเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉพาะใบสดอย่างเดียวจะอยู่ที่ จะสร้างมูลค่าได้ถึง 3.3 หมื่นล้านบาทใน 1 ปี

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลคือการไม่มีการควบคุมการปลูกกระท่อม ซึ่งอาจส่งผลในแง่ลบ ทำให้ราคาตกต่ำลงได้ ดังนั้น แผนงานที่จะโฟกัสต่อไป ในการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจต่อไป ด้วยการวิจัยและพัฒนาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าได้สูง

โดยล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาช่วยศึกษาวิจัยกระท่อม ไม่ว่าจะเป็นการทดลองนำกระท่อมมาสกัดกั้นอาการอยากยาของกลุ่มผู้ติดยาเสพติด ปรากฏว่าสามารถใช้กระท่อมทดแทนอาการการติดฝิ่นหรือเฮโรอีนได้ ส่วนยาแอมเฟตามีนหรือยาบ้ายังอยู่ระหว่างการวิจัยเกี่ยวกับคลื่นสมอง

“แม้ปัจจุบันราคาขายพืชกระท่อมยังถือว่าสูง ขณะที่ปัจจุบันยังติดกฎหมายการบังคับอนุญาตให้ปลูกเพียงคนละ 3 ต้นเท่านั้น แต่ต้นร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม เมื่อไปอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นการบังคับปลูกเพียง 3 ต้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในด้านการให้เสรีภาพ ดังนั้น อนาคตมีแนวโน้มจะอนุญาตให้ประชาชนปลูกจำนวนและปริมาณเท่าไรก็ได้ การจะช่วยให้ราคาไม่ตกเมื่อมีการปลูกมาก อยู่ที่การสร้างจุดเด่นกระท่อม ซึ่งภาครัฐร่วมกันพยายามส่งเสริมอยู่ต่อเนื่อง

ขณะที่หากประชาชนทั่วไปสนใจในการแปรรูปสินค้าหรือวิจัยกระท่อมก็สามารถติดต่อที่องค์การอาหารและยา หรือ อย. ที่เป็นผู้ดูแลในส่วนนี้ได้ทันที และนี่คือแนวคิดและการดำเนินงานเกี่ยวกับเส้นทางเศรษฐกิจของกระท่อมที่เราวางไว้”

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ถึงกระท่อมจะมีการปลดล็อกอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ต้องคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับกระท่อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นจึงมีแนวทางการดำเนินการด้านกฎหมาย ผ่านการเสนอร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. … โดยมีวัตถุประสงค์กำหนดทิศทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระท่อม ในฐานะที่ไม่ใช่พืชเสพติด

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดหลักการการส่งเสริมการปลูกพืชกระท่อมและการใช้อย่างถูกวิธี เพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และมีมาตรการป้องกันบุคคลกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เข้าถึงพืชกระท่อม และป้องกันการใช้ในทางที่ผิด เช่น กำหนดระบบอนุญาตเกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม กำหนดการพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาต กรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือในกรณีที่ขาดคุณสมบัติ กำหนดบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นต้น


“ในอนาคตพืชทุกชนิดจะเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกระท่อม หรือกัญชา เบื้องต้นกระทรวงยุติธรรมได้เสนอกฎหมายรวมไปที่คณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งจะทำให้ทิศทางของพืชกระท่อมมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะต่อไป”