“อาร์เอส” เปิดเกมรุกรอบทิศ ทุ่มงบฯพันล้านขยายพอร์ต

‘อาร์เอส’เปิดเกมรุกรอบทิศ ทุ่มงบฯพันล้านขยายพอร์ต

อาร์เอส เปิดแผนใหญ่ปี’65 เดินหน้าสร้างรายได้โต 5.1 พันล้าน ผ่านกลยุทธ์ LEAP ทยอยขนทัพสินค้าสุขภาพ-กัญชงกว่า 30 ตัวลงตลาด-ยกระดับธุรกิจสื่อบันเทิงโกออนไลน์ เตรียมจัด 3 คอนเสิร์ตใหญ่-เพิ่มมูลค่าสินค้าจ่อนำเพลงลงขาย NFT-ชู Popcoin คีย์ไดเวอร์หลัก ผสานการเติบโตทุกหน่วยธุรกิจแบบไร้รอยต่อ ดึงฐานข้อมูลทำบิ๊กดาต้า ต่อยอดธุรกิจใหม่ พร้อมขยายฐานไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในปี 2564 อาร์เอสได้เดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ อาทิ กัญชง-กัญชา อาหารสัตว์เลี้ยง

รวมไปถึงการเปิดตัว Popcoin เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตัวเองเป็นครั้งแรก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของโมเดล entertainmerce และเชื่อมโยงหน่วยธุรกิจของอาร์เอสให้เป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านการทำ seamless big dataนำฐานลูกค้าของทั้งเครือมาเชื่อมถึงกันแบบไร้รอยต่อ นำไปสู่โอกาสการทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะ

ซีอีโอบริษัทอาร์เอสย้ำว่า จากนี้ไปอาร์เอสจะมีสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มเข้ามามากขึ้น และเป็นเครื่องมือให้บริษัทขยายฐานลูกค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจเนอเรชั่นเก่าอย่างเบบี้บูมเมอร์ เจน X และเจน Y ตอนต้นที่เป็นฐานลูกค้าหลัก

รวมไปถึงกลุ่มเจนใหม่ที่สนใจเทคโนโลยีทั้งเจน Y ตอนปลาย เจน Z และ alpha ซึ่งจะนำ Popcion เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและเข้าถึงอาร์เอสได้มากขึ้น ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า “seamleps entertainmerce experience” ยกระดับบิสซิเนสโมเดลของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ

โดยปี 2565 นี้ อาร์เอสจะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ “LEAP” โดย 1. L คือ lifestyle wellbeing solution โฟกัสไปที่ธุรกิจคอมเมิร์ซ ประกอบด้วยอาร์เอสมอลล์และไลฟ์สตาร์ เน้นการเป็น your wellbeing partner เพิ่มหมวดสินค้าใหม่ให้แก่ลูกค้า

โดยปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าบอดี้ เช่น อาหารเสริมและความงาม 60% สินค้าไมนด์ เช่น กลุ่มประกันชีวิต 5% สินค้าโฮมแอนด์เพ็ต ซึ่งเป็นหมวดสินค้าใหม่ 20% และสินค้าโซเชียลแอนด์แทรเวล 15% ที่คาดว่าจะฟื้นตัวและกลับมาคึกคักในปี 2565

พร้อมกับรวมแบรนด์สินค้าในเครืออาร์เอสให้เหลือ 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ well u เน้นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์, Vitanature+ เน้นสารสกัดธรรมชาติ, CAMU C เครื่องดื่มสุขภาพ และ Lifemate อาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมี่ยม

เพื่อง่ายต่อการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง โดยมีแผนจะทำสินค้า SKU ใหม่ภายใต้ 4 แบรนด์ดังกล่าว 28 ชิ้น ขณะที่กลุ่มสินค้ากัญชงจะเปิดตัวอีก 7-8 SKU คือ อาหารเสริมกัญชง, ฟังก์ชั่นนอลดริงก์กัญชง

และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง โดยจะทยอยลอนช์สินค้าตั้งแต่ไตรมาส 1-4 นอกจากนี้ ได้ผนวก Popcoin มาใช้ประโยชน์ในการทำระบบ CRM และเมมเบอร์ชิปผ่านการทำโปรโมชั่นสำหรับกลุ่มสมาชิก RS Mall PLUS เพื่อกระตุ้นยอดขาย

และสร้างเอ็นเกจเมนต์ในกลุ่มผู้บริโภคได้มาก จึงคาดว่าในปีนี้ฐานสมาชิกจะขยายจาก 8 แสนรายสู่ 1.2 ล้านรายได้สำเร็จ

2.E คือ entertainment uplift ยกระดับธุรกิจสื่อและบันเทิง โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 นอกจากเพิ่มความเข้มข้นเนื้อหาละคร ข่าว และมวย คอนเทนต์สำคัญแล้ว จะทำรายการออนไลน์มากขึ้นอาทิ Gen 8 คอนเทนต์เด็กผ่านนักแสดงหน้าใหม่ของช่อง 8 สอดคล้องกับทิศทางเม็ดเงินโฆษณา

ซึ่งแบรนด์มีแนวโน้มทุ่มเงินผ่านทางดิจิทัลสูง พร้อมกับเพิ่มออริจินอลคอนเทนต์ อาทิ รายการ Food Truck Battle ซีซั่น 2 ดึงดาราเกาหลีและดาราไทยแข่งขันการทำอาหารกัน เป็นต้น เพื่อขยายฐานไปสู่ผู้ชมรุ่นใหม่ อายุ 18-30 ปี

ส่วนสื่อวิทยุ COOLISM จะโกออนไลน์มากขึ้น และเตรียมจัดอีเวนต์คอนเสิร์ต 3 รายการ คือ kemikaze Party 2022 ในช่วงเดือน มิ.ย., Dance Marathon 2022 ในช่วงเดือน ต.ค.

และปิดท้ายปีด้วย 21st Anniversary D2B Festival ขณะที่ขาธุรกิจเพลงจะทำคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมนำ Popcoin มาสร้างสิทธิพิเศษให้แก่พาร์ตเนอร์ และเมมเบอร์ชิปเพื่อรับชมคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟโดยเฉพาะ

3. A คือ asset monetization เพิ่มรายได้ใหม่จากสิ่งที่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นการนำธุรกิจเพลง มาสร้างเป็น NFT หลายรูปแบบ รวมไปถึงการทำรายการออนไลน์ลงยูทูบแชนเนล

เช่น รายการอาร์สยามขายเก่ง, รายการโตมากับเฮีย, รายการวัยรุ่นเงินล้าน เป็นต้น ส่วนในสินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างบริษัท เชษฐ์ เอเชีย จำกัด เตรียมผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างการเติบโตในไตรมาส 4 ปี’65

และ 4.P คือ Popcoin คริปโทเคอร์เรนซีและแพลตฟอร์มสมาร์ทมาร์เก็ตติ้ง คีย์ไดเวอร์สำคัญที่นำไปสู่ธุรกิจใหม่ในปีนี้ โดยหลังจากเปิดตัวมีผู้สนใจลงทะเบียน Popster กว่า 7 แสนราย

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มเทรดกับ Bitkub ได้ภายในเดือน ม.ค.นี้ โดยขณะนี้มีพาร์ตเนอร์ที่จับมือใช้ Popcoin แล้ว เช่น ASSET WISE, IT CITY, SABUY TECH, INDEEM และ Chayo

นอกจากนี้ อีกยุทธศาสตร์ที่จะกลายเป็นคีย์หลักในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่อาร์เอส คือ การลงทุน M&A ทั้งรูปแบบร่วมทุน (JV) และการควบรวม และเทกโอเวอร์กิจการ

โดยในปี 2565 นี้เล็งไว้ 1-2 ดีล ดีลละ 500-1,000 ล้านบาท ขณะนี้มีการเจรจาธุรกิจอยู่ราว 2-3 ที่ เพื่อต่อยอดโมเดลธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ ถือเป็นการเติบโตในระยะยาว

โดยตั้งเป้าหมายด้านรายได้อยู่ที่ราว 5.1 พันล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มคอมเมิร์ซ 2,750 ล้านบาท และกลุ่มมีเดียเอ็นเตอร์เทนเมนต์ 2,350 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนดิจิทัลทีวีและวิทยุ 1.4 พันล้านบาท, Popcoin และดิจิทัล 300 ล้านบาท, เพลง 325 ล้านบาท และคอนเสิร์ต-อีเวนต์ 325 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิจะอยู่ที่ประมาณ 14-15% ของรายได้