สธ.เปิดเกณฑ์ใหม่สิทธิผู้ป่วยรักษาโควิดฟรี

กระทรวงสาธารณสุขเปิดเกณฑ์ผู้ป่วยโควิดเข้ารับสิทธิตามสิทธิโครงการยูเซป หากฉุกเฉินวิกฤต รักษาได้ทุกที่ 72 ชม. ส่วนผู้ป่วยไม่รุนแรง ให้รักษาโควิด HI-CI ตามสิทธิรักษาฟรี บัตรทอง-ประกันสังคม-สิทธิข้าราชการ ฟากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจ่อยื่นหนังสือถึง คปภ.ถกแก้ปัญหาบริษัทประกันไม่จ่ายสินไหมผู้ติดเชื้อกักตัวที่บ้านในสัปดาห์นี้

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สายพันธุ์โควิดที่ระบาดในประเทศไทยในปัจจุบัน 90% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ที่แม้จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นหลักหมื่นรายต่อวัน แต่ 90% มีอาการน้อย และเมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลต้าในจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเท่ากัน แต่อัตราการป่วยหนักกลับลดลง 7 เท่า จำนวนผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 10 เท่า

ดังนั้นจึงมีการพิจารณาปรับจากสิทธิการรักษาตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือยูเซป (UCEP) มาเป็นระบบการรักษาตามสิทธิ โดยหากอาการไม่มากก็จะเข้ารักษาใน home isolation (HI) และ community isolation (CI) ส่วนยูเซปจะสำรองให้คนไข้วิกฤตฉุกเฉิน เพราะปัจจุบันเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 3 หมื่นเตียงทั่วประเทศ ส่วนเตียงผู้ป่วยทั่วไปราว ๆ 1.3 แสนเตียง ซึ่งสามารถปรับมาเป็นเตียงที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักได้

สำหรับโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือยูเซป คือ วิกฤตฉุกเฉินที่สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลได้ทุกที่ โดยหวังให้ได้ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ที่มีอาการวิกฤต เช่น หายใจขัดข้อง แขนขาอ่อนแรง หอบเหนื่อยมาก หรือเลือดออกในสมอง

โดยถ้ามีอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ตามเกณฑ์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ หากไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน โดยที่ไม่ได้มีอาการเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต ต้องจ่ายค่ารักษาเอง

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวเสริมว่า การรักษาโควิดที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทำให้โรงพยาบาลดังกล่าว ไม่สามารถให้การรักษาโรคอื่นได้ ประกอบกับประชาชนเริ่มเข้าใจโรคโควิดมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงมีการประชุมคณะกรรมการเห็นชอบให้มีการปรับการรักษาโควิดจากฉุกเฉินมาเป็นการรักษาตามสิทธิ และเข้าสู่การพิจารณาภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุขก็เห็นชอบเช่นกัน

พร้อมหารือร่วมกัน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ถึงแนวทางการรักษา โดยแบ่งเป็นรายละเอียดดังนี้ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่มีค่าใช้จ่าย ถัดมาคือ กองทุนบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งฟรี ส่วนผู้ประกันตน ของสำนักงานประกันสังคมจะมีการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ เพื่อหารือถึงการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากว่ามีสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน

ส่วนผู้ป่วยต่างด้าวก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐได้ ขณะที่การรักษาตัวใน HI สามารถโทร.สายด่วน 1330 ได้ทันที ส่วนเครือข่ายประกันสังคมติดต่อ 1506 แต่ถ้าในกรุงเทพฯจะเน้นโทร.1330 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการประสานงานเพื่อจัดการรักษาที่บ้าน แต่ถ้าหากพบอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร.1669 มีสิทธิรักษาทุกที่โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ส่วนกรณีที่ไม่ได้ไปรักษาพยาบาลตามสิทธิ แต่ต้องการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ต้องจ่ายเงินเอง

นายแพทย์ธเรศกล่าวต่อถึงกรณีปัญหาบริษัทประกันสุขภาพ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ สบส.จะทำหนังสือส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดที่ดูแลตัวเองที่บ้านจัดอยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยในของโรงพยาบาล โดยจะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้


อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างพิจารณาเวลาเริ่มดำเนินการอีกครั้ง ตลอดจนการปรับกลไกยูเซปเดิมอาจมีบางอย่างไม่ครอบคลุม เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิดที่ใช้กับคนไข้โควิดทาง สบส.ได้รับมอบจากท่านปลัด สธ.จะจัดประชุมในการเพิ่มไอเท็มต่าง ๆ ที่ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นโรคใหม่ เพื่อให้คนไข้ที่เป็นโควิดแล้วเกิดฉุกเฉินวิกฤต ทาง รพ.จะได้นำไปใช้เบิกจ่ายได้