สธ.ท้วงคปภ. เบรกเกณฑ์ใหม่ประกัน ยันโควิดรักษาที่บ้านเป็น “ผู้ป่วยใน”

Home Isolation
เครดิตภาพ : สำนักอนามัย กทม.

กระทรวงสาธารณสุขโต้แนวปฏิบัติใหม่สมาคมประกันชีวิตไทย เตรียมส่งหนังสือแจ้งคปภ. ระบุผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation Community Isolation หรือ ฮอสพิเทล ถือเป็น “ผู้ป่วยใน” ในโรงพยาบาลตามกฎหมายสถานพยาบาลของสธ. บริษัทประกันจะยกเหตุมาอ้างว่าไม่ได้ admit ในรพ. เพื่อหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้ หลังสมาคมฯประกาศใช้เกณฑใหม่ 15 ก.พ.นี้

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่สมาคมประกันชีวิตไทยแจ้งบริษัทสมาชิกออกหนังสือแจ้งแนวปฏิบัติใหม่การให้ความคุ้มครองการประกันสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ของบริษัทประกันชีวิต โดยมีเนื้อหาสรุปโดยย่อว่า จากนี้ไปหรือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป บริษัทประกันชีวิตจะให้การชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้เอาประกันที่ป่วยเป็นโควิด ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

โดยสมาคมประกันชีวิตไทยอ้างว่าแนวปฏิบัติใหม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565

โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ส่วนผู้ป่วยที่จะเข้ารักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” ในโรงพยาบาลนั้น จะต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข “ข้อใดข้อหนึ่ง” ดังต่อไปนี้

  • เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
  • หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่
  • Oxygen Saturation < 94%
  • โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

ส.ประกันชีวิตไทยใช้เกณฑ์ใหม่ กักตัวที่บ้านไม่ถือเป็น “ผู้ป่วยใน”

สมาคมประกันชีวิตไทยยกเหตุผลว่า ในระยะเวลาอันใกล้ การติดเชื้อโควิด-19 จะกลายสภาพเป็นเหมือน “โรคประจำถิ่น” เช่นเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระบวนการดูแลรักษาจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” อีกต่อไป และ ผู้เข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

ดังนั้น การรักษาใน Hospitel เป็นเพียงการแยกกักตัว (isolation) ซึ่งไม่ควรถือว่าเป็นการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (admit)ตามนิยามเดิม

สมาคมจึงขอให้บริษัทประกันชีวิตที่เป็นสมาชิก ได้เตรียมความพร้อมในการสื่อสารภายในบริษัทและโรงพยาบาลคู่สัญญา เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรักษาพยาบาลแบบ “ผู้ป่วยใน” และสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้จากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ถ้ามี) ให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว

สรุปพอให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้เอาประกันภัยที่ป่วยเป็นโรคโควิด จะเบิกค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยรายได้จากการนอนโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทลได้นั้น ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อ ข้างต้นเท่านั้น ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ต้องใช้วิธีกักตัวที่บ้านเอง (home isolation) ซึ่งจะเบิกค่ารักษาจากบริษัทไม่ได้

พร้อมทั้งให้ตัวแทนประกันชีวิตจึงต้องเร่งทำความเข้าใจ และชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจในเงื่อนไขก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทลต่อไป

นอกจากนี้ยังมีหมายเหตุว่า ถ้าโรงพยาบาลยังรับเข้าแอดมิททั้งที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ผู้เอาประกันอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดด้วย

โดยจะเริ่มใช้แนวปฏิบัติใหม่นี้พร้อมกันทั้งธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

สธ.ยันแนวปฏิบัติ บ.ประกันไม่สอดคล้องกับของสาธาณสุข

จากปัญหาและแนวปฏิบัติใหม่ที่สมาคมประกันชีวิตไทยอ้างว่าเตรียมจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ทำให้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรายงานความเห็นต่อหนังสือสมาคมประกันชีวิตไทย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

สาระสำคัญของหนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยมีหนังสือของสมาคมประกันชีวิตไทย แจ้งแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของบริษัทประกันชีวิตว่า แนวทางการรักษาไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือ มีอาการเพียงเล็กน้อยให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

ซึ่งข้อความในหนังสือดังกล่าวส่งผลกระทบให้สถานพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรับผู้ป่วย และส่งต่อให้โรงพยาบาลของรัฐทำการรักษา และอาจส่งผลให้บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือค่าชดใช้รายได้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต (รายละเอียดตามสำเนาของสมาคมประกันชีวิตไทยที่แนบมา

กรมการแพทย์ได้พิจารณาและร่วมมือกันหารือกับผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้แทนกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.ตามแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันสุขภาพ ของสมาคมประกันชีวิตไทย มีข้อความไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ได้แก่ การกลายสภาพเป็นโรคประจำถิ่น การแยกกักตัว และแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยแยกกักตัวเข้าโรงพยาบาล

2.ตามแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่กล่าวในข้อ 1 โรคติดเขื้อโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย โดยให้แยกกักตัวผู้ป่วยยืนยัน และ Home Isolation เป็นแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้โดยมีกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง คำสั่งของหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

2.1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 ณ ที่พำนักของผุ้ป่วย เป็นการชั่วคราว กำหนด “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล ซึ่งรวมถึง Home Isolation ได้แก่ บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคโควิด-19

2.2 กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดให้มีและรายงาน หลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลและผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2554 กำหนดนิยาม “ผู้ป่วยใน” หมายความว่า ผู้ป่วยซึ่งมารับการรักษาพยาบาลโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ให้การรักษาพยาบาลสั่งให้รับไว้ เพื่อให้อยู่พักรักษาในสถานพยาบาล และได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วย

2.3 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 สั่ง ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดโควิด-19 และได้เข้ารับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิตข้อ 4 ให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือการดูแลรักษาแบบ Community Isolation แต่อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวจะมีผลกับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ทำขึ้นก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2564 เท่านั้น

2.4 ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป “ผู้ป่วยใน” หมายถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป

covid โควิด
FILE PHOTO: REUTERS/Kacper Pempel

ยันผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่บ้านเป็น “ผู้ป่วยใน”

ช่วงท้ายของหนังสือระบุว่า จากกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง คำสั่ง คปภ. และ คำจำกัดความในกรมธรรม์ดังกล่าว Home Isolation จึงเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น ใน “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล โดยเป็น “ผู้ป่วยใน” ที่แพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลสั่งให้รับไว้เพื่อให้อยู่พักรักษาในสถานพยาบาล

ในที่นี้คือ สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย และมีการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นไปตามความหมายของ “ผู้ป่วยใน” ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป

ทั้งนี้ คปภ. มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation และเห็นสมควรแจ้งให้ คปภ. ทราบถึงสถานการณ์ที่สมาคมประกันชีวิตไทยแถลงการณ์กับสมาชิกในการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยกับผู้เอาประกันภัยที่ทำไว้ก่อนแล้ว และเงื่อนไขที่บริษัทประกันภัยจะกำหนดในอนาคต รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัย

เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานของบริษัทประกัน มิให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วย และสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

เตรียมส่งหนังสือแจ้งคปภ. อ้างเหตุเลี่ยงจ่ายสินไหมไม่ได้

ทางด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีบริษัทประกันสุขภาพ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน Home Isolation ว่า สบส.จะทำหนังสือส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดที่ดูแลตัวเองที่บ้านจัดอยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยในของโรงพยาบาล โดยจะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

“บริษัทประกันบางที่ตีความการเข้ารักษาในระบบ HI มาเป็นข้ออ้างไม่จ่ายให้คนพักรักษาตัวที่บ้านหรือฮอสพิเทล ซึ่งกรมการแพทย์ สบส. และกรมควบคุมโรค มีการประชุมและดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว กำลังทำหนังสือยืนยันไปทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยืนยันว่า

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตามผู้ป่วยในที่เราออกแบบไว้ ทั้ง HI CI หรือฮอสพิเทล ถือเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล จึงมีสิทธิในกรมธรรม์ได้รับการชดเชยหรือการเยียวยาตามกรมธรรม์ที่ซื้อไว้ จะอ้างว่าไม่แอดมิตใน รพ.ไม่ได้” นพ.ธเรศกล่าว

โดยระหว่างรอการหารือกับคปภ. นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากเจ็บไข้ได้ป่วยสถานพยาบาลจะทำการรับรองท่านว่าเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร และจะเป็นผู้เบิกกรณีค่ารักษาพยาบาล ส่วนค่าชดเชยจะเป็นระหว่างกรมธรรม์ และผู้เอาประกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมกัน และลงมติว่า จะทำหนังสือแจ้ง คปภ.ภายในสัปดาห์นี้ว่า การอยู่ HI CI หรือ Hospitel ถือว่าเป็นการรักษาที่อยู่ในสถานพยาบาล

เนื่องจากระบบได้กำหนดให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว มีระบบเหมือนสถานพยาบาลหมด มีเครื่องมือวัดออกซิเจน มีหมอโทรติดตามอาการ มีอาหารส่ง ออกแบบมาให้คนไข้นอนรักษาเหมือนสถานพยาบาล