
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยพบ “โอมิครอน” ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 ในไทย ขณะที่ทั่วโลกคีย์ข้อมูลเข้าจีเสด พบ “เดลต้าครอน” พันธุ์ผสม “เดลต้า -โอมิครอน” เรียกว่า ไฮบริด กว่า 4 พันราย ส่วนในไทยพบ 73 ราย ตั้งแต่ ธ.ค. 64 – ม.ค. 65 หายดีแล้ว ยันไม่ต้องกังวล แต่ต้องจับตาต่อ
วันที่ 23 มีนาคม 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด ว่า จากการเฝ้าระวังโควิดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64-18 มี.ค. 65 พบว่า ขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 99.95% เกือบ 100% แล้ว โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนทั้งหมด
ส่วนการแยกสายพันธุ์โอมิครอนพบว่า สัดส่วน BA.2 มากที่สุดถึง 78.5% และ BA.1 อยู่ที่ 21.5% ซึ่ง BA.2 เพิ่มขึ้นจาก 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น BA.2 แล้ว เห็นได้จากข้อมูล 13 เขตสุขภาพ พบ BA.2 เกิน 50% ทั้งหมด ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 พบ 33.33% เนื่องจากมีเรื่องการตรวจตัวอย่างน้อยอยู่
สำหรับข้อมูลเรื่องเดลต้าครอน องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า เป็นไวรัสโควิดผสมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอน และเดลต้า เรียกว่าเป็นไฮบริด ระหว่างส่วนโปรตีนหนามสไปก์จากโอมิครอน BA.1 และส่วนโปรตีนด้านหน้า
ซึ่งไวรัสเพิ่มจำนวนเป็นของเดลต้า เรียกว่า AY.4 เริ่มพบการแพร่ระบาดแล้วในฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ขณะนี้มีรายงานข้อมูลในจีเสดประมาณ 4,000 กว่าราย แต่มีการวิเคราะห์สายพันธุ์ว่าเป็นเดลต้าครอนจริง ๆ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย
อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 4 พันกว่าราย รวมถึงที่ประเทศไทยได้ซับมิตข้อมูลไป 73 ราย ยังไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อเดลต้าลดลง โอกาสที่จะมารวมกันแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง เพราะไม่มีเดลต้าเหลือให้ผสมกันแล้ว แต่ก็ต้องขึ้นกับเดลต้าครอนที่มีอยู่ จะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ หากเกิดแพร่เร็วขึ้น ในอนาคตก็อาจครองแทนได้ แต่ตอนนี้ยังไม่พบเช่นนั้น ต้องจับตาต่อไป
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการผู้ติดเชื้อเดลต้าครอน 73 รายในไทยว่า มีอาการอย่างไร ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโควิดสายพันธุ์เดลต้าครอน 73 ราย ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่เกิดในช่วงเดือน ธ.ค. 2564 และเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเดลต้าและโอมิครอน ทำให้มีโอกาสเกิดพันธุ์ผสม แต่ผู้ป่วยทั้ง 73 รายหายแล้ว ไม่มีใครเสียชีวิต
ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ผสมที่ไม่ได้หนักหนา และยิ่งไม่แพร่เร็ว สักพักจะจบ จริง ๆ เชื้อเบต้าโหดกว่าด้วย ยิ่งตอนนี้โอมิครอนแทนที่ ยิ่งกังวลเดลต้าครอนน้อยลง ตอนนี้ต้องรอดูว่า เดลตาครอนจะเป็นอย่างไร แพร่เร็วหรือไม่ ถ้าแพร่เร็วจริงอีกสักพักก็จะมา แต่หากไม่ได้แพร่พันธุ์เร็ว ก็จะถูกเบียดหายไป
สำหรับสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 นั้น ข้อมูลในจีเสด (Gisaid) ยังไม่มีการแอดไซน์เข้าไปในระบบ แต่ทราบแล้วว่ามี เพียงแต่ต้องมีการติดตามข้อมูลให้เพียงพอ โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีนของสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3
เมื่อถามถึงสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 ในไทย มาจากปัจจัยอะไร หรือจากประเทศไทยเอง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า พูดยาก เพราะตอนนี้เราไม่ได้ปิดประเทศ มีการให้คนเดินทางมา
ซึ่งการจะทราบรายละเอียดลงไป เรายังไม่สามารถตรวจแบบสกีนนิ่ง ที่เราตรวจสัปดาห์ละ 2 พันรายนั้นเป็นการตรวจเบื้องต้น แต่ในเมื่อสายพันธุ์ BA.2.2 และ BA.2.3 ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไร ก็ไม่มีความจำเป็นแยกตั้งแต่ต้น ซึ่งหากจะทำต้องทำน้ำยาตั้งแต่ต้นมาแยกเฉพาะ
สรุปคือ จากข้อมูลขณะนี้ โอมิครอน คุณสมบัติหลบภูมิค่อนข้างดี อย่างคนที่ติดเชื้อเดลต้ามาแล้ว 4-5 เดือนก่อน ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ ซึ่งวัคซีนหากฉีด 2 เข็ม และฉีดนานพอสมควรส่วนใหญ่จะตก ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ต้องมากระตุ้น และเมื่อมีกระตุ้นก็ยิ่งป้องกันการป่วยตายได้มากขึ้น