โรงพยาบาลรับมือรายได้โควิดขาลง เข็นบริการใหม่ดึงคนไข้เพิ่ม

โรงพยาบาลจัดทัพรับประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จับตาการแข่งขันแย่งคนไข้ระอุ “หมอบุญ วนาสิน” ฟันธงแนวโน้มรายได้จากโควิดเริ่มลด “ธนบุรี เฮลท์แคร์” เข็นบริการใหม่เสริม-ขยายการลงทุนสร้างรายได้ ขณะที่ “รามคำแหง” เพิ่มดีกรีเจาะกลุ่มผู้สูงอายุ-หัวใจ-สมอง กลุ่มเกษมราษฎร์ประกาศลุยครบเครื่อง ทั้งคนไข้ทั่วไป-ประกันสังคมยกระดับบริการ ผนึกบริษัทประกัน อำนวยความสะดวก-เพิ่มกำลังซื้อลูกค้า

ตลอดช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา แม้การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับหลาย ๆ ธุรกิจในแง่ของรายได้และยอดขายที่ลดลง แต่ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งกลายเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่สะท้อนจากผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) หลายแห่งเติบโตแบบก้าวกระโดด อาทิ ธนบุรี เฮลท์แคร์ หรือกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี, บางกอก เชนฯ (BCH) หรือกลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ รพ.รามคำแหง รพ.จุฬารัตน์ รพ.มหาชัย เป็นต้น

แต่ล่าสุดความเคลื่อนไหวในการเตรียมจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น อาจส่งผลให้รายได้ของโรงพยาบาลต่าง ๆ ดังกล่าวมีแนวโน้มที่ลดลง และต้องเร่งปรับตัวเพื่อหารายได้จากบริการอื่น ๆ เพื่อทดแทน

รายได้โควิดแนวโน้มลดลง

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 ที่ผ่านมาผลประกอบการของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยฯ (บจ.) ส่วนใหญ่เติบโตดีโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดกลางที่เข้าร่วมกับภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และมีรายได้จากส่วนนี้เข้ามาเสริมเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คาดการณ์และมองต่อจากนี้ไปก็คือ หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น รายได้จากการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ดังกล่าวที่เคยมีมากจะเริ่มน้อยลง

เบื้องต้นคาดการณ์ว่าตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป รายได้จากโควิดที่เคยได้อาจจะลดลงมากกว่า 50% และในระยะถัดไปอาจจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากที่เคยได้รับ ดังนั้น แนวทางของกลุ่มธนบุรีจากนี้ไปจะต้องมุ่งการหารายได้จากทางอื่นเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะเรื่องของโพสต์โควิด บริการใหม่ ๆ รวมถึงรายได้จากการเข้าไปลงทุนในหลายธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น แล็บ ถุงมือยาง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีรายได้เกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้ไป

“ตอนนี้คนไข้ทั่วไปเริ่มกลับเข้ามารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลบ้างแล้ว แต่ในแง่ของจำนวนหรือปริมาณอาจจะยังไม่มากนักเทียบกับสถานการณ์ปกติ เนื่องจากประชาชนทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ส่วนคนไข้ชาวต่างประเทศหรือนักท่องเที่ยวในช่วงแรกนี้อาจจะยังมาไม่มากนัก”

เร่งปรับตัวงัดบริการใหม่ทดแทน

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

อีกด้านหนึ่งจะส่งผลให้รายได้ของโรงพยาบาลที่เคยมีส่วนร่วมในการดูแลคนไข้โควิดเริ่มมีรายได้ที่ลดลง และจะต้องเร่งปรับตัวด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนไข้เดิมที่เป็นคนไข้ในประเทศ เนื่องจากคนไข้ที่เป็นชาวต่างประเทศอาจจะยังกลับมาไม่มากนักในปีนี้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ตลาดกลับมาแข่งขันสูงขึ้น

สำหรับแนวทางของรามคำแหงและโรงพยาบาลในเครือ ก็จะเน้นการดูแลคนไข้กลุ่มเดิมและพยายามขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพิ่ม โดยยุทธศาสตร์สำคัญจะหันมาเน้นการดูแลคนไข้ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงการเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและโรคเกี่ยวกับสมองที่โรงพยาบาลมีความเชี่ยวชาญ

รวมถึงจากนี้ไปจะหันมาเน้นการสร้างรายได้จากบริการหรือธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น เรื่องของแล็บ ธุรกิจนำเข้าเครื่องมือแพทย์-เวชภัณฑ์ เป็นต้น

ด้าน นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลประกอบการกลุ่ม รพ.ในตลาดหุ้นปี 2564 ที่ผ่านมา หลายแห่งมีตัวเลขผลประกอบการที่ดี ทั้งในแง่ของรายได้และกำไร

ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการเข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยโควิดของรัฐบาล แต่หลังจากนี้ไปคาดว่ารายได้จากโควิดของโรงพยาบาลเหล่านี้จะเริ่มลดลง โดยเฉพาะหลังจากที่ สธ.ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น

ดังนั้น จากนี้ไปจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม คาดว่าแนวทางการดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยจะเป็นแนวทางหนึ่งที่หลาย ๆ แห่งหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับบริการที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เทเลเมดิซีน จะได้รับความนิยมมากขึ้น

คาดคนไข้ ตปท.มาปีหน้า

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และเวิลด์เมดิคอล อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในเรื่องนี้ว่า สำหรับกลุ่มบางกอก เชนฯเองยังคงดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด ด้วยการร่วมกับภาครัฐที่เน้นการให้บริการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ

เช่น การตรวจหาภูมิคุ้มกัน ทำแพ็กเกจสำหรับผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนโมเดอร์นาสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าภูมิคุ้มกันต่ำ โปรแกรมตรวจสุขภาพของผู้ที่ป่วยที่เคยติดเชื้อมาแล้ว (long COVID) รวมถึงการรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องกักตัว จะมีบริการทั้ง hospitel, home isolation, hotel isolation ที่โรงพยาบาลร่วมกับโรงแรมหลายแห่ง และมีเตียงให้บริการอยู่ประมาณ 2 หมื่นเตียง และเตียงที่ดูแลชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศอีกกว่า 5 พันเตียง

ควบคู่กับการยกระดับความสามารถในการให้บริการ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงโรงพยาบาลแห่งเดิม การใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อขยายศูนย์ตติยภูมิการแพทย์ นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นไปที่การยกระดับระบบการปฏิบัติการภายใน และการขยายกิจการแบบ backward integration

อาทิ การเปิดศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และการเปิดศูนย์มะเร็งที่ช่วงแรกจะช่วยลดต้นทุนของกลุ่มและจะเป็นการขยายฐานรายได้ในอนาคต

ส่วนลูกค้าเงินสดจะเน้นการจับกับบริษัทประกันเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มกำลังซื้อให้ลูกค้าได้สามารถใช้บริการได้ง่ายขึ้น บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่จะทำต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง

รวมทั้งความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือนเมษายนน่าจะมีตัวเลขเพิ่มทะลุ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังจะมี pent up demand หรือความต้องการผ่าตัดที่มีการเลื่อนออกไปในช่วงที่โควิดระบาดจะกลับมา ซึ่งทำให้รายได้ของโรคที่มีความซับซ้อนในครึ่งปีหลังสูงขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่คาดว่าจะเริ่มทยอยเข้ามามากขึ้น โดยอาจจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป ในส่วนของเวิลด์เมดิคอล (WMC) ที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ

และหลาย ๆ สาขาก็ได้มีการเตรียมความพร้อม เช่น เตรียมเปิดศูนย์รักษาแผลเบาหวานที่เกษมราษฎร์ รามคำแหง, การเปิดศูนย์เวลเนสเพิ่ม เป็นต้น

ชูบริการโควิดปั๊มรายได้ระยะสั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่โควิด-19 โอมิครอนยังแพร่ระบาดในวงกว้างที่มีจำนวนผู้ป่วยวันละ 2-3 หมื่นราย และกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จากการสำรวจพบว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้หันมาให้ความสำคัญกับการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยโควิดมากขึ้น

เช่น การเปิดคลินิกพิเศษสำหรับให้บริการกลุ่มลูกค้าโควิด-19 การให้บริการรับตรวจหาเชื้อ ตรวจภูมิคุ้มกัน โปรแกรมการตรวจ-รักษาผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อ นอกจากนี้ รพ.หลายแห่งยังเปิดให้บริการลูกค้าที่ต้องการกักตัว แพ็กเกจฟื้นฟูร่างกายสำหรับอาการ long COVID

นอกจากนี้ รพ.หลายแห่งยังเปิดให้บริการลูกค้าที่ต้องการกักตัว แพ็กเกจฟื้นฟูร่างกายสำหรับอาการ long COVID เป็นต้น แต่ละบริการ แต่ละแพ็กเกจ จะมีระยะเวลาบริการและมีระดับราคาที่แตกต่างกันไป

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลจากการเข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี มีรายได้รวม 10,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จาก 7,315 ล้านบาทในปี 2563, บางกอก เชนฯ (BCH) หรือกลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ที่มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 12,515 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 138%, รพ.รามคำแหง มีรายได้รวม 13,217 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46%

ขณะที่ รพ.จุฬารัตน์ มีรายได้ 4,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,327 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 370% และ รพ.มหาชัย มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 2,130 ล้านบาท หรือเติบโต 82% เป็นต้น