เปิดอาณาจักร ตระกูลโตทับเที่ยง-ปุ้มปุ้ย จบคดีมรดกหมื่นล้าน

นายสุธรรม โตทับเที่ยง ย้ำว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าความขัดแย้งในหมูเครือญาติตระกูลโตทับเที่ยงยุติลง

วันที่ 29 เมษายน 2565 ความขัดแย้งของตระกูล โตทับเที่ยง ผู้ก่อตั้งและบริหารแบรนด์ปลากระป๋อง ปุ้มปุ้ย รวมถึงเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ของจังหวัดตรัง ถือเป็นหนึ่งในมหากาพย์ของวงการธุรกิจไทย เมื่อกลุ่มเครือญาติเกิดความขัดแย้งในการบริหารธุรกิจครอบครัวหรือที่เรียกกันว่า “กงสี” จนเกิดการฟ้องร้องเพื่อแบ่งทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2559

จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ให้มีการแบ่งทรัพย์สินประกอบด้วยหุ้นของบริษัทในเครือ 19 บริษัทให้แก่พี่น้องทั้ง 10 คน เท่า ๆ กัน ส่วนที่ดินกว่า 30 แปลง อาคารร่วม 25 ห้องให้โอนเป็นของบริษัทในเครือ

ยืนยันก้าวข้ามความขัดแย้ง

หลังมีคำพิพากษา นายสุธรรม โตทับเที่ยง โจทก์ในคดีดังกล่าว ยืนยันว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าความขัดแย้งในหมูเครือญาติตระกูลโตทับเที่ยงยุติลง พร้อมเตรียมส่งหนังสือเชิญนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ หลังจากนี้ ทั้งด้านทรัพย์สินของกงสี และการบริหารจัดการบริษัทในเครือทั้ง 19 บริษัท พร้อมชะลอการบังคับตามคำพิพากษาออกไปก่อน

โดยย้ำว่า “วันนี้ความขัดแย้งเล็กน้อยในหมู่เครือญาติสินสุดลงแล้ว และถือว่าทุกฝ่ายวิน-วิน ไม่มีใครเสีย โดยทุกคนได้ในสิ่งที่ตนควรจะได้รับ การบริหารบริษัทหลังจากนี้ ไม่ปิดโอกาสที่นายสุรินทร์จะเข้ามาร่วมงานด้วย เพราะเรามองคนในครอบครัวก่อนอยู่แล้ว”

จากนี้ไปแต่ละธุรกิจในเครือจะเดินหน้าเต็มที่ ในฐานะธุรกิจครอบครัวโตทับเที่ยง พร้อมเดินหน้าล้างภาพความขัดแย้ง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะ อาหารกระป๋องตราปุ้มปุ้ย ที่ถือเป็นเรือธงของกลุ่มบริษัท

ADVERTISMENT

ปรับโครงสร้าง ระดมเจน 1-2 นั่งทีมบริหารปุ้มปุ้ย

ในส่วนของการบริหาร ปุ้มปุ้ย หลังจากนี้นั้น นายสุธรรม อธิบายว่า ขณะนี้ได้มีทีมบริหารใหม่เข้ารับช่วงต่อจากทีมเก่า ตั้งแต่เดือนพฤษจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยสมาชิกตระกูลโตทับเที่ยงทั้งเจน 1 และ 2 หรือพี่น้องและหลาน ๆ รวมกว่า 30 คน เข้ามารับหน้าที่ทั้งส่วนกำหนดนโยบายในฐานะกรรมการ และผู้บริหารงานโดยตรง มีตนเป็นประธานกรรมการ

ADVERTISMENT

โดยมีแนวทางที่จะมุ่งการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าใหม่ ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และหลังจากนี้จะดึงบุคลากรใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หุ้นของบริษัทสามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้อีกครั้ง

ย้อนชนวนเหตุขัดแย้ง

ความขัดแย้งนี้เริ่มจากปัญหาในการบริหารงาน บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกงสีของกลุ่มพี่น้อง และถือหุ้นในบริษัทผลิตภัณฑ์อาการ กว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือปุ้มปุ้ย โดยนายสุธรรม โตทับเที่ยง บุตรคนโตและพี่น้องรวม 9 คน อ้างว่า นายสุรินทร์ กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อพี่น้อง ด้วยการปลดพี่น้องในตระกูลทุกคนออกจากการเป็นกรรมการของ บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกงสีของกลุ่มพี่น้อง และถือหุ้นในบริษัทผลิตภัณฑ์อาการ กว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือปุ้มปุ้ย

ระบุว่า การปลดดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากมีการปลอมรายงานการประชุมเพื่อแจ้งเท็จต่อนายทะเบียนพาณิชย์ รวมทั้งแต่งตั้งบุตรชายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนอีกด้วย ซึ่งได้มีการฟ้องร้องต่อศาล และศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีทางแพ่งและอาญาแล้ว

ขณะเดียวกันนายสุรินทร์ได้สั่งปลดและเลิกจ้างพี่สาว, น้องสาว, น้องสะใภ้และหลาน ๆ ที่เป็นผู้บริหารเดิม ปรับเปลี่ยนลดตำแหน่งน้องสะใภ้และหลานอีกจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงแก้ไขระเบียบข้อบังคับในเรื่องการกู้สหกรณ์ออมทรัพย์กว้างไพศาล ซึ่งทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

ด้านนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยอ้างถึงปัญหาในการบริหารงาน และปัญหาธรรมาภิบาลในการบริหารของฝ่ายบริหารชุดเดิมที่สุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การทำธุรกรรมทางการค้าของบริษัท ทำให้คณะกรรมการบริษัท เสียงส่วนใหญ่จึงต้องมีมติให้หยุดธุรกรรมที่มีปัญหาทั้งหมดและมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง

เรื่องดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนมีการยื่นคำร้องขอให้นายสุรินทร์เลิกใช้นามสกุลโตทับเที่ยง และเกิดการฟ้องร้องหมิ่นประมาทกลับ

ต่อมา นายสุธรรม โตทับเที่ยง บุตรคนโตและพี่น้องรวม 9 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง บุตรคนที่ 3 กับภรรยา, บุตรและบุคคลในตระกูลโตทับเที่ยง รวม 6 คน เป็นจำเลยที่ 1-6 ต่อศาลแพ่งธนบุรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ในคดีหมายเลขดำที่ พ.2264/2559 เรื่อง ขอแบ่งทรัพย์สินในกงสี หรือทรัพย์ของครอบครัวที่ทำมาหากินร่วมกัน ซึ่งฝ่ายจำเลยถือแทนทายาทอื่น

อาณาจักรธุรกิจโตทับเที่ยง

โดยธุรกิจในตระกูลโตทับเที่ยงนั้น ประกอบด้วยบริษัทต่าง ๆ รวม 19 บริษัท ประกอบกิจการหลากหลาย ทั้ง ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผลิตกระป๋อง โรงแรม ตลาด อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ม อาทิ บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกงสีที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ในเครือ, บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ( มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่าย ปลากระป๋อง ปุ้มปุ้ย

บริษัท โรงแรมธรรมรินทร์ จำกัด มีโรงแรม 2 สาขา คือ โรงแรมธรรมรินทน์ และโรงแรมธรรมรินทน์ ธนา มีห้องพักรวม 400 ห้อง, บริษัท ตรังแคนเนอร์รี่ จำกัด เป็นซัพพลายเออร์ผลิตกระป๋องจำหน่ายให้กับโรงงานปุ้มปุ้ย, บริษัทตรังทราเวล จำกัด ทำธุรกิจท่องเที่ยว และบริษัทอื่น ๆ คือ บริษัท โตโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัทกว้างไพศาลโฮลดิ้ง จำกัด และ

นอกจากนี้ยังมีบริษัทธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการเอสวันเอวินิว, โครงการหมู่บ้านธนากาเดนส์, โครงการหมู่บ้านไทยทอง และอีกหลายโครงการ รวมถึงธุรกิจตลาดสดยิ่งดี สวนยางพาราและอื่น ๆ

10 พี่น้องโตทับเที่ยง

ในส่วนของเครือญาติพี่น้อง “โตทับเที่ยง” นั้นมี บิดาคือ นายโต๋ว ง่วน เตียง และ มารดาชื่อนางยิ่ง แซ่โต๋ว เป็นชาวจีนอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีบุตร ธิดารวมจำนวน 10 คน คือ

นายสุธรรม โตทับเที่ยง, นางสุพัตรา สินสุข (โตทับเที่ยง) เสียชีวิตแล้ว, นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง, นางจุรีย์ สัมพันธวรบุตร (โตทับเที่ยง), นายสวัสดิ์ โตทับเที่ยง เสียชีวิตแล้ว, นางจุฬา หวังศิริเลิศ (โตทับเที่ยง), นางเลอลักษณ์ หรือ จุรัตน์ มะนะสุทธิ์ (โตทับเที่ยง), นายสลิล โตทับเที่ยง, น.ส.สุนีย์ โตทับเที่ยง และ น.ส.สิริพร โตทับเที่ยง