“เมดพาร์ค” โตเร็วเกินคาด ก้าวข้ามโควิด…มั่นใจรายได้พุ่งเท่าตัว

แม้การเปิดให้บริการของ “เมดพาร์ค” โรงพยาบาลขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเมื่อปลายปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยนัก เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามากระทบ แต่จากการปรับตัวที่สอดรับกับสถานการณ์ก็ทำให้โรงพยาบาลขนาด 550 เตียงค่อย ๆ เติบโตขึ้นทั้งในแง่ของชื่อเสียงและรายได้

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) ถึงการปรับตัวเพื่อพลิกสถานการณ์และยุทธศาสตร์การดำเนินงานจากนี้ไป ดังนี้

Q : หลังจากเปิดเมื่อปลายปี 2563 ถึงตอนนี้ภาพรวมของเมดพาร์คเป็นอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า เมดพาร์คเปิดขึ้นมาเป้าหมายเพื่อรักษาโรคยาก ซับซ้อน และเริ่มให้บริการเมื่อตุลาคม 2563 แต่ในช่วงนั้นมีโควิด-19 เกิดขึ้น

ทำให้ต้องปรับตัวมาก ช่วงนั้นผู้ป่วยมีความกลัว มีความกังวล ไม่อยากเข้าโรงพยาบาล กลัวว่าเข้ามาแล้วจะมารับเชื้อกลับไป ขณะที่โรงพยาบาลก็ป้องกันตัว กลัวว่าคนไข้จะเอาเชื้อมาติดคนไข้อื่น ๆ หรือไม่ ก็ปรับตัวอยู่พักหนึ่งในที่สุดลงตัว

ช่วงนี้แม้ว่าโรงพยาบาลจะยังไม่มีรายได้อะไรมากมายนัก แต่เราเองที่มีทรัพยากร ทั้งแพทย์ พยาบาล มีหอผู้ป่วยพนักงาน มีความพร้อมพอสมควร เมื่อประเทศชาติมีวิกฤตจึงนำทีมงานออกไปช่วยเหลือสังคมภายนอกที่มีปัญหา

เริ่มจากการไปร่วมกับภาครัฐเป็นหัวหอกในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยใช้อาคารสถานที่ของโรงพยาบาลเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งคนไทย คนต่างประเทศ จนถึงวันนี้ฉีดไปแล้วเกือบ 3 แสนโดส

ซึ่งก็ทำให้ชื่อเสียงของเมดพาร์คเริ่มเป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ ก็มีการลงพื้นที่ไปโรดโชว์แนะนำตัวเองกับกลุ่มเป้าหมายในสีลม สาทร สุรวงศ์ เยาวราช สุขุมวิท ฯลฯ

ระหว่างนั้นก็มีการดูแลรักษาผู้ป่วยควบคู่กันไป ทั้งคนไข้โควิดและคนไข้ทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีความซับซ้อนและรักษายาก ที่เป็นจุดแข็งของเรา ถึงวันนี้เมดพาร์คมีการดูแลรักษารวมถึงผ่าตัดไปแล้วมากกว่าถึงพันเคสแล้วภายในเวลาเพียงปีกว่า ๆ เช่นผ่าตัดต้อกระจกตา ผ่าตัดข้อเข่า ผ่าตัดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ

วันนี้เมดพาร์คเปิดมาประมาณปีครึ่งแต่อาจจะกล่าวได้ว่าเหมือนเปิดมาสัก 3 ปี เป็นอะไรที่มากกว่าที่คาดไว้ โดยในแง่รายได้แม้อาจยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้นัก โดยจบปีแรกมีรายได้ประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มมหาชัยเรามีโรงพยาบาลในเครือ 6 โรง (มหาชัย, มหาชัย 2, มหาชัย 3, มหาชัยแม่กลอง, เพชรรัชต์ และมหาชัยพร้อมแพทย์) และเจ้าพระยาอีก 1 โรง

ตอนนี้แต่ละเดือนรายได้ของเมดพาร์คค่อย ๆ ไต่ขึ้น ๆ และค่อย ๆ แซงโรงพยาบาลในเครือทีละโรง ๆ ส่วนกำไรอาจจะยังไม่แซงเพราะมีค่าเสื่อม ค่าอะไรอีกพอสมควร

Q : วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานจากนี้ไปไว้อย่างไร

นอกจากการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นหัวใจหลักแล้ว เมดพาร์คยังได้วางบทบาทในแง่ของวิชาการ ที่ผ่านมาได้จัดประชุมทางวิชาการมา 2-3 ครั้ง และต่อไปก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องโดยจะมีการทำงานวิจัย ทำงานการเรียนการสอนด้วย

วัตถุประสงค์ที่จะมุ่งให้ความสำคัญในเชิงวิชาการหลัก ๆ ก็เพื่อต้องการจะนำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ดังกล่าวมาเพิ่มมูลค่าให้ตัวเราเองและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในอนาคต

ยกตัวอย่าง ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดจะเห็นว่าประเทศเราไม่มี safety nets ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีภูมิคุ้มกันให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ เช่น ขาดหน้ากากอนามัย ขาดวัคซีน ขาดยา เป็นต้น

หรือย้อนกลับไปในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ตอนนั้นก็มีปัญหาขาดน้ำเกลือทางการแพทย์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าหากเราไม่มีกลไกลในการพึ่งตัวเองได้ เมื่อเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมาสักอย่างก็จะมีปัญหา ดังนั้น เราจะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ไว้

นอกจากนี้ หลังจากโควิด-19 ผ่านไปโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งอาจจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่จะเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการ

สำหรับแนวทางของเมดพาร์คหลัก ๆ คือ การเพิ่มทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริม จากที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่มีเข้ามาเพิ่ม เช่น สูตินรีแพทย์ แพทย์ออร์โทพีดิกส์ จักษุแพทย์ เป็นต้น เร็ว ๆ นี้เตรียมจะเปิดศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้มีการลงทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ของทุก ๆ แผนกค่อนข้างมาก

ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดประเทศ เราเตรียมทีมงานในส่วนนี้ไว้มากกว่า 30 คน ซึ่งตอนนี้เท่าที่สังเกตก็จะพบว่าชาวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามาบ้างแล้ว

และกลุ่มชาวต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายเบื้องต้นจะมุ่งไปที่กลุ่ม CLMV และตะวันออกกลาง จากตอนนี้ที่คนไข้ชาวต่างประเทศหลัก ๆ ของเมดพาร์คจะเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานทูต นักธุรกิจ พนักงานที่พักหรือทำงานในย่านสีลม สาทร วิทยุ

นอกจากนี้ เรื่องการรักษาด้วยทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์แล้ว เมดพาร์คจะเน้นในเรื่องของอัตราค่าบริการ ค่ารักษาที่ไม่สูงเกินไปและเข้าถึงได้ง่าย และที่ผ่านมายังได้ดีไซน์บริการเพื่อสร้างความแตกต่างเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นตลาดระดับบนด้วยการเปิด Evergreen Club ที่เปิดเป็นเลานจ์ให้เมมเบอร์เข้ามานั่งพัก ประชุมงาน คุยธุระ และมีเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้เมมเบอร์แต่ละคน และจะคอยทำหน้าที่ในการนัดหมายการพบแพทย์ การจัดคิว เพื่ออำนวยความสะดวกให้เมมเบอร์ ซึ่งถึงตอนนี้มีประมาณ 3,000 คน

จากแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าว เราคาดการณ์ว่าภาพรวมสำหรับปีนี้จะทำได้ดีกว่าปีที่แล้วมาก

Q : ตอนนี้มีการเตรียมตัวเพื่อจะรองรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นอย่างไรหรือไม่

ตอนนี้ได้ตั้งเป้าให้ทุกแผนกปรับตัว เตรียมตัวให้พร้อมจะดูแลคนไข้ทั่วไปได้อย่างเต็มที่มากขึ้น แต่ละแผนกจะต้องทำพยากรณ์ มีการคำนวณ capacity ของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ก็จะเริ่มทยอยเพิ่มพนักงานเข้ามาอีก 200-300 คน จากเดิมที่ตอนนี้มีประมาณ 600 คน เพื่อมารองรับสถานการณ์ที่จะกลับมาปกติ รวมถึงการเปิดรับพยาบาลที่มีประสบการณ์เพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง

อีกสิ่งหนึ่งที่เมดพาร์คได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น “My Med Park” ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการและรับการรักษา โดยที่คนไข้จะสามารถนัดหมายการพบแพทย์ผ่านแอปแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ คนไข้ยังจะสามารถดูผลการตรวจ ผลแล็บ ประวัติการใช้ยา รวมถึงในแง่ของค่าใช้จ่ายที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแบบเรียลไทม์ เพื่อให้คนไข้สามารถรู้หรือรับทราบว่าค่าใช้จ่ายตัวเองตลอดเวลาที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลมีมากน้อยเพียงใด เป็นการสร้างความโปร่งใสในแง่ของบริการและสามารถตรวจสอบได้

Q : คาดหวังกับปีนี้อย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของคนไข้และของรายได้

ถ้าเทียบกับการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายและรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปิดให้บริการมา สำหรับปีนี้คาดหวังว่าน่าจะต้องโตกว่าปีที่แล้วสัก 100% หรือเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเป็นอย่างน้อย