สธ.-ศธ.เผยรายละเอียดมาตรการสกัดโควิดรับเปิดเทอม 1/2565

สธ.-ศธ. เผยรายละเอียดมาตรการสกัดโควิดรับเปิดเทอม 1/2565 สธ.ยังประกาศกำหนดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็ก 12-17 ปีช่วงเดือน พ.ค.นี้อีกด้วย

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 สธ. – ศธ.ได้ประชุมร่วม สสจ. แจกแจงมาตรการที่สถานศึกษา และผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติในช่วงเปิดเรียนแบบ On-Site ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

ประเมินความพร้อม

สำหรับแนวทางปฏิบัติของสถานศึกษานั้น ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขั้นการเตรียมความพร้อม ทุกสถานศึกษาต้องประเมินตนเองในระบบ Thai Stop COVID Plus ซึ่งจะมีการประเมินในแง่ของการเตรียมการ และการจัดการด้านกายภาพรวม 44 ข้อ ก่อนจะส่งไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ ที่เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้เปิดเรียนได้

ปรับผังห้องเรียนลดระยะห่าง

ในส่วนของการเว้นระยะห่างในห้องเรียน จะลดจาก 1.5 เมตร เหลือ 1 เมตร ดังนั้นห้องเรียนขนาด 8 X 8 เมตร สามารถจัดโต๊ะเรียนได้ 7 แถว แถวละ 6 ที่นั่ง รวม 42 คน ซึ่งโดยปกติ 1 ห้องเรียนจะมีนักเรียนประมาณ 40 คน จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการเว้นระยะห่าง

แต่อาจจะมีปัญหาในโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ บางห้องอาจจะมีขนาด 6 X 8 เมตร

ส่วนโรงเรียนที่เรียนในห้องปรับอากาศ ต้องมีการเปิดระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 นาที ในช่วงพัก

โรงอาหารแยกสำรับ งดพูดคุย

โรงอาหารควรมีการแยกสำรับกับข้าวแยกพื้นที่ และงดการพูดคุยขณะกินอาหาร รวมถึงเมื่อมีการเล่นร่วมกัน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา

แผนเผชิญเหตุ

แต่ถ้ามีการแพร่ระบาดในโรงเรียนขอให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เช่น หากพบผู้ติดเชื้อเข้าไปเรียนให้ปิดทำความสะอาด 3 วัน แล้วเปิดเรียนตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 คน มีการแพร่กระจายมากกว่า 2 ห้อง ทางโรงเรียนต้องประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเข้ามากำกับดูแล ระงับการแพร่ระบาดต่อไป

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า การทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงนั้น จะไม่ปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เพราะนักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน

โดยหากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนประจำ ให้แยกกักตัวที่โรงเรียน (School Isolation) ตามมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School (SSS)

สำหรับโรงเรียนไป – กลับ ให้ปฏิบัติตามมาตรการการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข หรือพิจารณาจัดทำ School Isolation โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข ผู้ปกครอง ชุมชน พิจารณาร่วมกันให้ความเห็นชอบตามความเหมาะสม

กรณีพบผู้ติดเชื้อในห้องเรียน คือ ให้ทำความสะอาดห้องเรียน ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข แล้วดำเนินการเรียนการสอนได้ตามปกติ

ส่วนเมื่อพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ถ้านักเรียนได้วัคซีนครบตามแนวทางปัจจุบันและไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน พิจารณาให้เข้าเรียนได้โดยพิจารณาร่วมกันระหว่างครอบครัว สถานบริการสาธารณสุข และสถานศึกษา

กรณีไม่ได้รับวัคซีน ให้แยกกักกัน (Self-quarantine) เป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน รวมเป็น 10 วัน

ทั้งนี้ หากมีอาการ ให้ตรวจคัดกรอง ATK ทันที หากไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แนะนำให้ตรวจ ATK ในวันที่ 5 และวันที่ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ

เร่งฉีดวัคซีนไฟเซอร์กลุ่มเด็ก

นอกจากมาตรการป้องกันและรับมือกรณีพบผู้ติดเชื้อแล้ว สธ.ยังเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนในเด็ก โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 นั้น

ในกรณีเด็กอายุ 12 – 17 ปี ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ให้เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง เข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ขนาดครึ่งโดส และต้องมีระยะห่างจากเข็ม 2 เป็นเวลา 4 – 6 เดือนขึ้นไป

สำหรับเด็กสุขภาพแข็งแรง เข้ารับบริการฉีดวัคซีน ผ่านระบบสถานศึกษา เดือนพฤษภาคม 2565 และรับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ระหว่างวันที่ 9 – 31 พฤษภาคม 2565 พร้อมกันทั่วประเทศ

กรณีเด็กนอกระบบการศึกษา รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น (เข็ม 3) จากสถานพยาบาล ได้แก่ กลุ่มเด็ก Home School จัดการเรียนการสอนที่บ้าน กลุ่มเด็ก 7 กลุ่มโรค (อ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวาน และโรคพันธุกรรม กลุ่มดาวน์ มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง เด็กมีพัฒนาการล่าช้า) และกลุ่มที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อจำกัด

การรับวัคซีนตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้ารับวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาลตามความสมัครใจของผู้ปกครองและผู้รับวัคซีน