
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คอนเสิร์ต” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานานกว่า 2 ปีเต็ม แต่จากสถานการณ์ที่คลี่คลายลง และมีความเป็นไปได้ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมจะประกาศลดระดับความรุนแรงของโควิด-19 ด้วยการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์” ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมการผลิต SHOWBIZ แบรนด์ครีเอทีฟ IDEA FACT ตามด้วย “ธารทิพย์ แสงสาตรา” รองกรรมการผู้อำนวยการ-หน่วยงาน CRM
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- มหาดไทยออกระเบียบใหม่ ตั้งคณะกรรมการชุมชน รับค่าตอบแทนรายเดือน
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต อายุ 55 ปี หลังซ้อมแข่งรถที่บุรีรัมย์
และ “สงวน เมธีธารา” ผู้จัดการอาวุโส-ควบคุมการผลิต “ไกร กิตติกรณ์” ผู้อำนวยการอาวุโส-สื่อสารการตลาด “พลัฏฏ์พล มิ่งพรพิชิต” ผู้อำนวยการ-สื่อสารการตลาด บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถึงภาพรวมของธุรกิจคอนเสิร์ตที่ได้รับการปลดล็อกมาระดับหนึ่ง และแผนการเตรียมจัดงานในช่วงจากนี้ไป
Q : อัพเดตสถานการณ์ธุรกิจคอนเสิร์ตตอนนี้
ที่ผ่านมาช่วงที่โควิด-19 ระบาด ธุรกิจคอนเสิร์ตได้รับผลกระทบมากว่า 2 ปีและช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผู้จัดคอนเสิร์ตแทบจะไม่มีใครกล้าจัด เพราะยังมีความเสี่ยงและมีเรื่องโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในแง่ของธุรกิจเองก็ต้องมีการวางแผน มีการเตรียมตัว เพื่อรอโอกาสจากรัฐบาลปลดล็อก และจะได้สามารถจัดงานได้ทันที
อาจจะกล่าวได้ว่า GMM Show เป็นเจ้าแรกที่เริ่มจัดงาน Chang MusicConnection Presents นั่งเล บีช ปาร์ตี้แอนด์ มิวสิค เฟสติวัล เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นการขออนุญาตจากจังหวัด และได้รับอนุญาต และมีการจัดงานภายใต้มาตรการ COVIDFree Setting ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด ถือเป็นการเปิด industry
นั่งเลฯ เป็นงานที่มีสเกลใหญ่ มีผู้เข้าร่วมงานนับหมื่นคนในรอบ 2 ปี ก็ค่อนข้างกังวล เพราะกลัวว่าจะเกิดเอฟเฟ็กต์เหมือนงาน บิ๊กเมาน์เท่น มิวสิค เฟสติวัล เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำวงการก็ต้องทำให้เกิดให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเพิ่งจัดไปงานเดียว เราไม่นับ เพราะเป็นงานสเกลเล็ก ๆ อย่าง พัทยา มิวสิค เฟสติวัล 2022 (25 มี.ค.) คนดูมีแค่หลักพัน
สำหรับ นั่งเลฯ เป็นซีรีส์ที่ต่อยอดความสำเร็จจากงาน นั่งเล่น มิวสิคเฟสติวัล ที่จัดต่อเนื่องมา 6 ครั้ง กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเฟิรสต์จ็อบเบอร์ หรือกลุ่มคนเริ่มทำงาน นักศึกษาที่มีไลฟ์สไตล์ ซึ่งช่วงต้นปี-ปลายปีจะนิยมไปเที่ยวภูเขา ช่วงซัมเมอร์จะชอบไปทะเล จึงเป็นการขยายแบรนด์ตามไลฟ์สไตล์ และจัดเป็นคอนเสิร์ตนั่งเลฯ ที่จัดริมทะเล ประสบความสำเร็จมาก
อีกด้านหนึ่งคอนเสิร์ตนี้ก็ยังเป็นการช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวเพชรบุรีด้วย คนที่ไปงานส่วนใหญ่ราว 70% เป็นคนกรุงเทพฯ ที่เหลือเป็นคนพื้นที่ใกล้เคียง แน่นอนว่างานมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพชรบุรีให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
Q : หลังโควิด-19 คลี่คลาย ภาพของงานคอนเสิร์ตจะเปลี่ยนไปหรือไม่
ปัจจุบันรูปแบบงานคอนเสิร์ตต้องให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ภาครัฐยังไม่มีการผ่อนคลาย 100% ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของจำนวนคนและพื้นที่ แต่ก็มีการผ่อนปรนจากที่กำหนด 1 คนต่อ 4 ตร.ม. เหลือ 1 คนต่อ 1 ตร.ม. ส่วนโซนอาหารและเครื่องดื่มอนุญาตให้ถอดหน้ากากได้ เป็นต้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ของคนดูลำบากมากขึ้น การตัดสินใจในการซื้อก็ยากขึ้น ทีมงานต้องทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เริ่มตั้งแต่การโปรโมต การขายบัตรที่ต้องทำล่วงหน้านาน ควบคู่กับเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก
Q : จากนี้ไปแกรมมี่เตรียมการจัดงานคอนเสิร์ตไว้มากน้อยแค่ไหน
เตรียมไว้มากกว่า 10 งาน อาทิ นั่งเล่น มิวสิค เฟสติวัล 6 ที่เลื่อนมาจากปีที่ 2564 เชียงใหม่ เฟสฯ ครั้งที่ 2, มาราธอน คอนเสิร์ต เฟสฯ และบิ๊กเมาน์เท่น มิวสิค เฟสติวัล ครั้งที่ 12 ทุกงานสเกลหมื่นคน
รวมถึงงานคอนเสิร์ตศิลปินเดี่ยว ที่อิมแพ็ค อารีน่า (เมืองทองธานี) นอกนั้นจะเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ เทศกาลดนตรีใหม่ ธีมใหม่ ๆ ที่ทีมงานกำลังขยายไปทั่วภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ และตะวันตก รวมไปถึงคอนเสิร์ตของศิลปินเดี่ยว รวม ๆ แล้วปีนี้ แกรมมี่ มิวสิค จะมีอีเวนต์มากที่สุดในประวัติการณ์
ยอมรับว่างานสเกลหมื่นคนไม่ค่อยห่วง แต่งานสเกล 6 หมื่นคน อย่าง บิ๊กเมาน์เท่นฯเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของปี ต้องรอดูสถานการณ์ หากโควิดถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ เราก็เริ่มโปรโมตทันทีซึ่งประเมินว่าจะสามารถจัดงานได้ตามแผนที่วางไว้
และการเข้าร่วมงานก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อย่างเคร่งครัด เช่น ต้องมีประวัติวัคซีนอย่างน้อย 2 เข้ม ตรวจ ATK ก่อนเข้าพื้นที่
และเมื่อเข้ามาในงานก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก เป็นต้น ในบริเวณงานจะมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือกระจายตามจุดให้บริการ มีการเพิ่มห้องน้ำ มีแม่บ้านทำความสะอาดมากกว่าทุกงานที่ผ่าน ๆ มา
Q : ใช้เวลาเตรียมงานนานแค่ไหน
สำหรับการเตรียมงานคอนเสิร์ต ทีมโปรดักชั่นรับโจทย์มาจากทีม สเต็ปถัดไปเริ่มลงพื้นที่ เพื่อคำนวณพื้นที่เพื่อรองรับคนหมื่นคน ก่อนจะเนรมิตภาพงาน โดยแบ่งโซนเวทีหลัก เวทีรอง และโซนกิจกรรม
แล้วก็มาออกแบบมาสเตอร์ แปลน ทำงานร่วมกันกับทีมครีเอทีฟ พยายามดีไซน์ให้เหมาะกับคนทุกกลุ่มที่อยู่ในงาน ทั้งผู้เข้าชมในงานที่มีหลายประเภท และกลุ่มศิลปิน ทีมงาน ร้านค้าต่างๆ เราต้องวางแผนระบบการจัดงานให้ดีที่สุด
Q : ถ้าไทม์ไลน์คอนเสิร์ตตรงกับคอนเสิร์ตต่างประเทศที่มาเล่นในบ้านเรา
เราไม่ถอย ถ้าวงที่เข้ามากลุ่มเป้าหมายมันคนละกลุ่ม ไม่ค่อยกังวล ยกเว้นว่าจะชนกันแบบ target เดียวกันจริง ๆ ต้องมาพิจารณาอีกที เท่าที่ทำมาไม่เคยขยับ เพราะวันนี้คอนเสิร์ตมันหลากหลายมาก ตามกลุ่มเป้าหมายของสังคมที่หลากหลาย
Q : จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ผู้จัดมีต้นทุนเพิ่มขึ้น-บริหารจัดการอย่างไร
การจัดงานตอนนี้ ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ต้องวางแผนตั้งแต่ต้นว่าจะทำอย่างไรในภาวะที่ต้นทุนสูง ประหยัดในเรื่องที่ประหยัดได้ โดยต้นทุนหลักอยู่ที่โปรดักชั่น บางอย่างที่ใช้ซ้ำได้หลายงานก็เก็บไว้ หรือแกรมมี่ ที่มีงานคอนเสิร์ตหลาย ๆ งาน ก็มีการเจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์ล่วงหน้า
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปลอดภัยที่เพิ่มเข้ามา จำนวนคน ทั้งสตาฟ การ์ด รวมถึงช่วงโควิดที่ต้องมีการโปรโมตมากขึ้นเพราะยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่กล้าเดินทางไปทำกิจกรรม และยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพื่อดึงคนเข้าร่วมงานให้มากขึ้น ซึ่งถือว่ามีความท้าทายมาก
Q : จากปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจ-กำลังซื้อที่ไม่ดีนัก ตอนนี้ในแง่ของสปอนเซอร์เริ่มกลับมาหรือยัง
เม็ดเงินเริ่มกลับมาเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าสปอนเซอร์จะตัดสินใจนาน และกังวลเรื่องของไทมิ่งของการจัดงาน งานจะจัดได้ชัวร์ไหม เพราะแบรนด์สินค้าจะมีแคมเปญที่อยู่ในช่วงโปรโมต ถ้าไม่ชัวร์เรื่องเวลาการจัดงาน สปอนเซอร์ก็ยังไม่สามารถใช้งบฯในการโฆษณาสินค้าได้
ตอนนี้สปอนเซอร์ที่เป็นขาประจำอย่างเช่น กลุ่มเครื่องดื่ม กลับมาแล้ว และเริ่มมีรายใหม่ ๆ อย่างบริษัทประกันที่เริ่มจับกลุ่มลูกค้าเด็กลง ต้องการจะทำให้คอนเสิร์ตเป็นช่องทางหนึ่งที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เพราะการใช้งบฯกับคอนเสิร์ตที่คนมารวมตัวหลักหมื่นคน จะได้ทั้งเรื่องของแบรนดิ้งและโปรโมตสินค้า
ที่สำคัญและเป็นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจคอนเสิร์ตในตอนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นในการจัดงานว่าจะได้รับความบันเทิงไปด้วยและปลอดภัยด้วย