รักษาโควิด “แพทย์ทางไกล” ต้องเป็นสิทธิบัตรทอง ใน กทม.-ปริมณฑล

บัตรทอง โควิด

บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ฯ เผยผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียวรับบริการแพทย์ทางไกลแล้วมากกว่า 4,000 คน ย้ำต้องเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่อยู่ใน กทม. และปริมณฑล

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นพ.สุทธิชัย โชคกิจชัย หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง กลุ่มสีเขียว ผ่านบริการการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีผู้ที่มีผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด สมัครเข้ารับบริการมากกว่า 4,000 ราย

จากการตรวจสอบขั้นต้น พบว่ากว่า 90% ของผู้ที่สมัครเข้ามานั้น ไม่เข้าเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการรับบริการแพทย์ทางไกล โดยกว่า 40% เป็นผู้ใช้สิทธิอื่น เช่น ข้าราชการ ประกันสังคม รองลงมาคือกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และกลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปี รวมทั้งมีอีกจำนวนหนึ่งที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว หรือเคยสมัครเข้ารับบริการที่อื่นแล้วสมัครมารับบริการ Telemedicine ซ้ำอีก ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปฏิเสธการให้บริการเพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด

“บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ฯ ยินดีให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทำให้เราสามารถให้บริการได้จำนวนหนึ่ง ดังนั้นจึงอยากขอเน้นย้ำว่าในการเข้ารับบริการนั้น ประการแรกจะต้องเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล”

“โดยในส่วนของ กู๊ด ด็อกเตอร์ฯ ดูแล กทม.และปริมณฑล 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ยังไม่ครอบคลุมนครปฐมและสมุทรสาคร เนื่องจากการจัดส่งยังไม่ครอบคลุม 2 จังหวัดนี้ แต่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ใน จ.นครปฐมและสมุทรสาครสามารถเลือกลงทะเบียนกับอีกแอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการได้ คือแอปหมอดี”

นอกจากนั้นผู้ป่วยโควิด-19 ต้องมีอายุอยู่ระหว่าง 15-60 ปี ไม่ใช่กลุ่ม 608 ไม่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว อ้วน หรือตั้งครรภ์ เป็นต้น กรณีคนพิการ รับดูแลคนพิการที่สามารถใช้การสื่อสารทางออนไลน์ได้ และไม่มีอัตราเสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้ หากเป็นสิทธิข้าราชการหรือประกันสังคม ท่านสามารถเข้ารับการดูแลตามช่องทางที่สิทธิของท่านกำหนด ส่วนผู้ที่มีภาวะเสี่ยงควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าเหมาะสมกับการดูแลที่บ้านได้หรือไม่

เช่นเดียวกับกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 15 ปี หรืออายุมากกว่า 60 ปี ก็สามารถเข้ารับบริการในช่องทางอื่นที่ สปสช.กำหนด เช่น ที่โรงพยาบาล หรือที่ร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการให้บริการผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP Self Isolation) หรือ “เจอ แจก จบ” โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะเภสัชกรจะได้ปรับโดสยาให้เหมาะสมกับขนาดตัวและช่วงอายุนั่นเอง

นพ.สุทธิชัยกล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ผู้ติดเชื้อ 90% ที่สมัครเข้ารับบริการ Telemedicine ไม่เข้าเกณฑ์ที่สามารถรับบริการได้นั้น บริษัทได้ปรับระบบเพื่อให้สามารถแจ้งผลการสมัครได้เร็วที่สุด โดยจะแจ้งผลการตรวจสอบเกณฑ์คุณสมบัติทุก ๆ 3 ชั่วโมง หากไม่เข้าเกณฑ์จะแจ้ง SMS ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ลงทะเบียนไว้

รวมทั้งจะแจ้งรายละเอียดหลักเกณฑ์ในขั้นตอนการสมัคร ว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่ไม่เหมาะกับบริการแบบ Telemedicine เพื่อให้ผู้สมัครประเมินตัวเองในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากผู้สมัครเข้าเกณฑ์ที่กำหนดว่าสามารถรับบริการได้ ทางบริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ฯ ก็จะให้การดูแลอย่างเต็มที่ต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ไลน์ GDTT หรือพิมพ์ไลน์ไอดี @gdtt