ขายอีวี 7 เดือนเฉียดหมื่นคัน ผลิตรถในประเทศสะดุดเม็ดเงินหาย 5 หมื่นล้าน

อุตสาหกรรมรถอีวี
ภาพ : ซิตี้แบงก์

สภาอุตฯหวั่นปัญหาชิปยังระอุหั่นเป้าผลิตลงทำรายได้หาย 5 หมื่นล้าน รถอีวีมาแรง 7 เดือนกวาดยอดจดทะเบียนเฉียดหมื่นคัน สร้างยอดขายสะสมทะลุ 2 หมื่นคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ หลังจากเดิมตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ในปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน เหลือเพียง 1.75 ล้านคัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับเป้าการผลิตเพื่อการส่งออกลงจาก 1 ล้านคัน เหลือเพียง 900,000 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 800,000 คัน เป็น 850,000 คัน

สำหรับสาเหตุที่กลุ่มตัดสินใจปรับลดเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ลงไปนั้นเป็นผลมาจากสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซียยังคงยืดเยื้อนาน ส่งผลให้ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์มาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีก่อน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

และยังส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ไปทั้ง 2 ประเทศลดลงไปกว่า 20,000 คัน ประกอบกับสถานการณ์การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอีก

นายสุรพงษ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน อีกทั้งต้องจับตาสถานการณ์ในไต้หวัน ตะวันออกกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศชั้นนำของโลกอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงด้วย

ขณะที่ตลาดในประเทศนั้นได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเปิดประเทศ และตลาดส่งออกยังคงเติบโตจากปีที่แล้วที่มูลค่าส่งออกทำสถิติสูงสุด และมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ทำให้เชื่อว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

ส่วนยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเดือนกรกฎาคม มีจำนวน 1,459 คัน เพิ่มขึ้น 334.23% แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถกระบะมีทั้งสิ้น 577 คัน เพิ่มขึ้น 410.62% รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 22 คัน เพิ่มขึ้น 2,100% รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 857 คัน เพิ่มขึ้น 287.78% รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 3 คัน

ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า สะสม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 8,784 คัน เพิ่มขึ้น 187.53% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถประเภทต่าง ๆ และรถกระบะรถแวน มีทั้งสิ้น 3,618 คัน เพิ่มขึ้น 254.36% รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 136 คัน เพิ่มขึ้น 312.12% รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 4,963 คัน เพิ่มขึ้น 148.65% รถโดยสารมีทั้งสิ้น 49 คัน เพิ่มขึ้น 1,125% และรถโดยสารมีทั้งสิ้น 18 คัน เพิ่มขึ้น 1,700%

ทั้งนี้ พบว่า ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนสะสมยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ถึง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ทั้งสิ้น 20,087 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 133.62%

ด้านนายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคมว่า มีแนวโน้มดีขึ้นจากการแนะนำรถยนต์รุ่นสำคัญเข้าสู่ตลาดของค่ายรถยนต์

“จะเห็นได้ว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มียอดขาย 64,033 คัน เพิ่มขึ้น 15.7% แม้จะอยู่ในช่วงกลางฤดูฝนซึ่งปกติเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของทุกปี”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัญหาการขาดแคลนชิป ยังคงเป็นอุปสรรคต่อเนื่องสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีสูง ดังนั้นสภาอุตฯ ประเมินการผลิตที่ลดลงราว 5 หมื่นคัน ก็จะทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมรถยนต์หดหายไปมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท