แค่เอื้อม…ไทยฮับอีวี

รถอีวี
รายงาน

ความพยายามของรัฐบาลไทย ที่ต้องการผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นฮับ “ยานยนต์ไฟฟ้า” กำลังเข้าใกล้ความจริง

ภาพการหลั่งไหลเข้ามาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากจีน ยุโรป และ อเมริกา ที่เตรียมลงหลักปักฐานยึดประเทศไทยเป็นฐานผลิตที่สำคัญ

ยิ่งตอกย้ำ “นโยบาย 30@30” ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ

พร้อมก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างน้อย 30% ของการผลิตในปี 2573 นำพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society)

วันก่อนบีโอไอ รายงานสถิติยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลคลอดโครงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งการลดภาษี และแจกเงินอุดหนุนผู้ใช้งาน

โดยตัวเลขของ XEV ตั้งแต่ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ได้รับการอนุมัติไปแล้วถึง 26 โครงการ จาก 17 บริษัท มีกำลังการผลิตแบบเต็ม 830,000 คัน แยกเป็นเพียวอีวีสูงถึง 256,000 คัน

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว เช่น ฟอร์ด, เอ็มจี, เกรท วอลล์ฯ, เนต้า, ล่าสุดบีโอไอยังได้อนุมัติการลงทุนให้กับบริษัท BYD จากประเทศจีน ซึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก PHEV มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท

คาดว่า BYD จะเริ่มผลิตในปี 2567 ด้วยการจัดตั้งบริษัท เร-เว่ ออโตโมทีฟ จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท

เพื่อประกอบกิจการค้าปลีก ค้าส่ง จำหน่าย นำเข้า และส่งออกยานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ อุปกรณ์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ทายาทของตระกูลพรประภา รวมถึงยังได้ตัดสินใจซื้อที่ดินในนิคม WHA จังหวัดระยอง เพื่อผลิตและขยายตลาดรถอีวีในภูมิภาคนี้

BYD หรือ Build Your Dreams เติบโตมากว่า 20 ปี มีโรงงานกว่า 30 แห่งทั่วโลก

และมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ พลังงานใหม่ และการขนส่งทางรถไฟ

BYD จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเสิ่นเจิ้น มีรายได้และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดแต่ละแห่งเกิน 1 แสนล้านหยวน BYD ถือเป็นเบอร์ 1 ผู้ผลิต EV โลก

อีกค่ายที่น่าจับตา เนต้า จากจีน ซึ่งเข้ามาลงทุนในไทยเป็นประเทศแรก เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจที่ไทยอย่างชัดเจน “เนต้าโฟกัสไทยเป็นประเทศแรก” โดยไม่สนใจ “ยุโรป” ถึงวันนี้ เนต้ามียอดขายรถอีวีแล้วถึง 3,000 คัน ส่วนด้านการผลิตเนต้าจ้างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ในเครือของ ปตท. คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ปี 2566

ส่วนแบรนด์อีวีจากฝั่งอเมริกาอย่างเทสลา ถ้า “อีลอน มัสก์” ตัดสินใจลงหลักปักฐานในบ้านเราน่าจะเป็นอีกแรงสนับสนุนให้ประเทศไทยพุ่งไปสู่ฮับอีวีได้เร็วขึ้น

เพราะก่อนหน้านี้ มหาเศรษฐีระดับโลกได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออล ซีซั่นส์ เพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท วัตถุประสงค์การจดทะเบียน เพื่อประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน

ล่าสุดเว็บไซต์ เทสลา บนหน้า Tesla Careers ได้ประกาศรับสมัครงานในประเทศไทยหลายตำแหน่งแบบ Full-time ประจำสำนักงานในกรุงเทพมหานคร

แบรนด์เทสลา จัดเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีคนนิยมสูงสุด มียอดขายทั่วโลกในปี 2021 สูงถึง 6.5 ล้านคัน

นี่ยังไม่รวมฉางอัน เฌอรี่ ฯลฯ ที่แต่ละแบรนด์พร้อมลุยตลาด BEV เป็นหลัก