ถอดรหัส “ไทยซัมมิท” ดีทรอยต์ออฟเอเชีย ของใคร ?

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ
ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เทรนด์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีเป็นแรงผลักสำคัญ ทำให้ทุกองคาพยพในอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องตัวปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง “ไทยซัมมิท” เบอร์หนึ่งในอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ถอดรหัสในยุคที่โลกกำลังก้าวผ่านจากเครื่องยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า “ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มาทั้งชีวิต ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ

ช่วงชิงฐานการผลิต

เรื่องการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลทำตอนนี้ถือเป็นเรื่องดี ก่อนหน้านี้ ไทยซัมมิท เคยพูดถึงเรื่องการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ว่าหากจะส่งเสริมผู้ผลิตอย่างเดียวไม่พอ ต้องส่งเสริมให้ครบ ผู้บริโภคก็ต้องได้ด้วย เพราะการส่งเสริมผู้ผลิต ก็คือซัพพลายอย่างเดียวไม่พอ ต้องส่งเสริมผู้บริโภคให้เกิดดีมานด์ก่อน สังเกตมั้ยว่าก่อนหน้าบีโอไอชักชวนไปตั้งนานก็ไม่มีใครมา เพราะตอนนั้นยังไม่มีดีมานด์

พอรัฐบาลคลอดมาตรการส่งเสริมรถอีวี ตอนนี้มากันเยอะเลย โดยเฉพาะค่ายจีน เอ็มจี เกรทวอลล์ เนต้า บีวายดี เร็ว ๆ นี้ ก็จะมีฉางอัน เฌอรี่ ฯลฯ แต่ถามว่าหลังจากเขามาแล้วจะไปต่ออย่างไร  ก็คงต้องดูที่นโยบาย เป็นเพราะเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับนักลงทุน แต่เชื่อว่าทุกประเทศส่งเสริมได้เหมือนกันหมด ดังนั้น คงต้องกลับมาดูที่พื้นฐานของประเทศว่าใครแข็งแรงกว่ากัน ก็น่าจะได้รับการช่วงชิงฐานการผลิตไปได้

ตอนนี้ทุกประเทศแข่งขันกันที่ความชัดเจน อย่างอินโดนีเซีย มีแหล่งแร่เป็นตัวดึงดูดนักลงทุน เวียดนามก็หาตำแหน่งของตัวเองได้อย่างเก่งกาจ จากการมีรถยนต์วินฟาสต์ (Vinfast) ที่วางตำแหน่งตัวเองไปสู่แบรนด์ระดับโลก

ส่วนจีน ถ้าไม่มีอีวีมาดิสรัปต์อาจจะไม่สามารถอยู่ในสายตาของชาวโลกได้ด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ประเทศไทยต้องหาจุดยืนของตัวเองว่าจะไปทิศทางใด หลายคนกังวลว่าญี่ปุ่น ทำไมไม่ตัดสินใจลงในบ้านเราสักที เขามีหลายเหตุผลที่ยังไม่ตัดสินใจลงอีวี เลยทำให้มองว่าตามจีนไม่ทัน แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเทคโนโลยีเขาไม่แพ้จีนแน่ เพียงแค่รอวันเวลา รอให้ตลาดอีวีเริ่มเข้าที่เข้าทาง ถึงตอนนั้นน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมได้แน่นอน

คำถามต่อไปคือ เขาจะตัดสินใจลงในเมืองไทยมั้ย คงต้องดูที่ปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรกส่วนใหญ่ที่เห็นเขาต้องเลือกแหล่งที่ใกล้แบตเตอรี่ และต้องไม่ลืมว่าการให้สิทธิประโยชน์ อินโดนีเซียก็พร้อม เวียดนามก็พร้อม แถมค่าแรงยังถูกด้วย คงต้องจับตาดูให้ดีว่าเขาจะไปทางไหน

หลายคนถามว่า ถ้าประเทศไทยจะเป็นฮับอีวีได้มั้ย คำตอบคือจะมองมุมไหน ถ้ามองในแง่ยอดผลิตก็เป็นไปได้ ตลาดในประเทศก็น่าจะโอเค แต่ส่งออกยังไม่แน่ใจว่าดีหรือเปล่า อย่าลืมว่า ไมนด์แมป หรือจุดที่เราจะทะลวงเข้าไปตอนนี้มันแน่นไปหมดแล้ว ในสถาณการณ์ที่เรียกว่าฝุ่นตลบแบบนี้ บางที่ไม่ใช่ว่าเราวิ่งเก่งหรือเร็วกว่า แต่อาจจะเป็นเพราะคู่แข่งเขาสะดุดล้มเองหรือป่าวด้วย

ปรับตัวรับโลกอีวี

สำหรับไทยซัมมิท ต้องปรับตัวรับโลกอีวีอย่างไร คำตอบสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มี 2 อย่างในการดิสรัปชั่นของอีวีคือ 1.Product Disruption จากรถยนต์เครื่องยนต์เปลี่ยนเป็นรถอีวี คือเป็นการดิสรัปชั่นของชิ้นส่วนที่หายไป และชิ้นส่วนใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามา เช่น แบตเตอรี่ในรถยนต์ และอื่นๆ ชิ้นส่วนเล็กน้อย ๆ ที่หายไป และมีชิ้นใหม่ใหม่โผล่เข้ามาเช่นเดียวกัน

2.Process Disruption คือ คนที่มีชิ้นส่วนเดิมอยู่ก็อย่า “นิ่งนอนใจ” เพราะเทคโนโลยี และกระบวนการในการผลิตจะเปลี่ยนไป จากเดิมรถเป็นเหล็ก เปลี่ยนมาใช้อะลูมิเนียม ให้มีน้ำหนักเบาขึ้น อย่างไทยซัมมิท ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนตรงนี้ได้ทันที ต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบแม่พิมพ์ เรื่องของ Process ยากกว่าในเรื่องของ Product ด้วยซ้ำ ไม่มีใครช่วยได้ ต้องใช้องค์ความรู้ของบริษัทเอง เพื่อปฏิวัติตัวเองให้อยู่ในโลกของผู้ผลิตชิ้นส่วนอีวีให้ได้ ไทยซัมมิทในประเทศไทยปรับได้เร็ว

เรามีลูกค้าอีวีทั่วโลก ซึ่งมั่นใจว่าค่อนข้างพร้อมถ้าลูกค้าในไทยพร้อมเมื่อไหร่ เราก็แค่ Copy แล้วเอามาใช้ ทั้งนี้ ลูกค้าจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยก็เข้ามาหาไทยซัมมิทหมดแล้ว เรารู้จักกันตั้งแต่ในเมืองจีน

เร่งขยายตลาด ตปท.

ปีนี้ก็จะเห็นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม เรามีโรงงานอยู่ 7 ประเทศด้วยกัน ประกอบด้วย อเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เซาท์แอฟริกา, อินเดีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย การลงทุนในต่างประเทศนอกจากจะเป็นการหาน่านน้ำใหม่แล้ว สิ่งที่ต้องการคือเทคโนโลยีและโนว์ฮาว จึงมีทั้งลงทุนเองและร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ ในอเมริกาเราซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม รองรับแบรนด์เทสลา และแบรนด์ริเวียน (RIVIAN) ของอเมซอน

รวมถึงกลุ่มบิ๊กทรี ในประเทศจีนเป็นการขยายโรงงานเดิม ขณะที่อินเดีย มอเตอร์ไซค์น่าสนใจมาก กำลังสนุกเลย โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมียอดผลิตรวมต่อปีมากถึง 8 ล้านคัน อีกประเทศคือเซาท์แอฟริกา ซื้อที่สร้างโรงงานพร้อมเครื่องจักรใหม่ ทำเกี่ยวกับบอดี้พาร์ตป้อนให้ค่ายฟอร์ด ส่วนอื่น ๆ ก็ขยายโรงงานเพิ่มเติม เวียดนามป้อนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น อินโดนีเซียป้อนแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้าไปทำตลาด เรากำลังเพิ่มสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 35%

ตลาดรถยนต์ไทยเริ่มอิ่มตัว

ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย มองว่ากำลังผลิตต่อปีไม่เกิน 2 ล้านคัน แบ่งเป็นในประเทศและส่งออกอย่างละครึ่ง แม้จะมีทัพรถยนต์จากจีนเข้ามาเสริมตลาดก็ตาม แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตฯรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด และยังมีปัญหาเซมิคอนดักเตอร์อีก ทำให้ตลาดหดตัวไปเยอะ เหลือราว ๆ 1.5 ล้านคันกว่า กำลังการผลิตจะพลิกกลับขึ้นมาถึง 2 ล้านคัน อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 4-5 ปี

ที่น่าห่วงคือ ถ้าต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเต็ม 2 ล้านคัน แต่ว่าผู้เล่นและยี่ห้อรถยนต์มีหลากหลายแบรนด์มากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องยอมรับว่ายอดขายกับกำไรจะไม่เท่าเดิม จะเกิดการแย่งมาร์เก็ตแชร์กันอย่างเข้มข้น ทุกค่ายมีฟิกซ์คอสต์เท่าเดิม ดังนั้น ผู้ผลิตและซัพพลายเชนต้องทำใจว่ากำไรน้อยลงแน่ ๆ

ใครคือดีทรอยต์ออฟเอเชีย

ถึงวันนี้ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะชูจุดแข็งของประเทศตรงไหน และที่สำคัญการสนับสนุนของรัฐ กับทั้งอุตสาหกรรมครบถ้วนแล้วหรือยัง ตอนนี้ถ้าในแง่ผู้บริโภคซื้อรถอีวีมีเงินอุดหนุน ผู้ผลิตรถยนต์ไม่ต้องพูดถึง สนับสนุนกันมาตั้งแต่จำความได้ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย แต่คนที่ถูกลืมคือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

มีคำถามมากมายว่าใครจะเป็นผู้ดึงให้ผู้ผลิตรถยนต์อยู่กับประเทศเราในวันที่สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หมดลง เวลาเปรียบเทียบเรื่องนี้สงสารตัวเอง และเพื่อนร่วมวงการเล็ก ๆ เราเหมือนชาวนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำงานหนักมากแต่ไม่มีใครคิดถึง ไทยซัมมิท เราพูดได้เต็มปากว่า 80-90% เราทำด้วยตัวเองมาโดยตลอด ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยเก่งมาก พยายามปรับตัวมาตลอด รัฐบาลควรหันไปดูสักนิดว่า ลืมอะไรไปบ้าง การสนับสนุนก็ไม่ใช่แค่เม็ดเงินอย่างเดียว เช่น ช่วยหาเทคโนโลยี ช่วยผลักดันให้ไปลงทุนต่างประเทศ ให้ได้เจอพาร์ตเนอร์เพื่อให้ได้โนว์ฮาวกลับมา

ทำอย่างญี่ปุ่นมีสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เยอะมากที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง เช่น เจโทร ที่พูดแล้วรัฐบาลต้องหยุดฟัง รัฐบาลต้องเลือกว่าตรงไหนเป็นยุทธศาสตร์ จะเป็นประเทศจีนก็ได้ เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นเขามองว่าประเทศไทยเป็นสแตรทิจิก แล้วพาผู้ผลิตทั้ง S, M, L ไปขยายตลาด

แต่ตรงข้ามนโยบายบีโอไอยังส่งเสริมชักชวนนักลงทุนต่างชาติมาเป็นแพ็กเกจ ทั้งซัพพลายเชนเข้ามาลงทุนบ้านเรา แบบนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยตายแน่นอน ถ้าอย่างนั้นดีทรอยต์ออฟเอเชียเป็นของใคร ต้องทำเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ ๆ เลย