บอสใหญ่บางชันปฏิเสธข่าว “เนต้า” EV จีนพลิกขั้วกลับไปซบ “อรุณพลัส” ยันล่าสุดเจรจาเพิ่มกำลังผลิตรถEV อีกรุ่น วอลุ่มเดิมหมื่นคันต่อปีขยายเป็นเท่าตัว มั่นใจไลน์การผลิตพร้อมผู้เชี่ยวชาญจากจีนพรึ่บ ลั่นปี 2568 พร้อมผลิต
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานปัญหาการจ้างผลิตรถ EV NETA รุ่น V ซึ่งบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ตัดสินใจจ้างบริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด หรือ BGAC ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตคันนายาว กทม. เป็นผู้ดำเนินการผลิตนั้น ระยะหลังมีกระแสว่า เนต้ายังมีข้อกังวลกับโรงงานบางชันหลายเรื่อง บางเรื่องได้ข้อยุติแล้ว แต่บางเรื่องยังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองและมีแนวโน้มว่า
หากไม่ลงตัวเนต้าอาจจะกลับไปใช้บริการ “อรุณพลัส” ในเครือ ปตท. กับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (FOXCONN) ที่ดำเนินการตอกเสาเข็มสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อําเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายวันชัย จึงสงวนพรสุข กรรมการบริหารของพีเอ็นเอ กรุ๊ป ดูแลรับผิดชอบโรงงานประกอบรถยนต์ บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี กล่าวปฏิเสธว่าน่าจะเป็นแค่ข่าวลือ
ล่าสุดตนเองเพิ่งได้รับเชิญไปเยี่ยมชมโรงงานเนต้า ที่ประเทศจีน และไลน์การผลิตก็ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้ว โดยมีผู้เชี่ยวชาญของเนต้า ประเทศจีนมาร่วมดูแลอย่างใกล้ชิดและที่ไม่น่าเป็นไปได้เลย บางชันยังได้รับออร์เดอร์เพิ่มเติมจากเดิมที่ผลิตเนต้า V เพียงรุ่นเดียว วอลุ่ม 1 หมื่นคันต่อปี ตอนนี้ยังบรรลุข้อตกลงให้ผลิตเพิ่มรถยนต์นั่งอีก 1 รุ่น วอลุ่มรวมเป็น 2 หมื่นคันต่อปี
และก่อนหน้านี้ นายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ให้ความมั่นใจว่าโรงงานประกอบรถยนต์บางชัน ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการประกอบรถยนต์ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ มานานกว่า 50 ปี โดยการสร้างไลน์การผลิตได้เตรียมการไว้เพื่อขยายรองรับความต้องการของตลาดรถยนต์ที่เติบโตขึ้น
โดยเชื่อมั่นว่าจากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้าของเนต้า ประกอบกับศักยภาพด้านการผลิตของบางชัน จะทำให้เนต้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดเมืองไทยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2568
สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์บางชัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 มีพื้นที่กว่า 53 ไร่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ผ่านการประกอบรถยนต์มาหลากหลายยี่ห้อ มีพื้นที่รองรับไลน์การผลิตได้ตามต้องการของตลาดรถยนต์ที่เติบโตขึ้น โรงงานแห่งนี้มีการประกอบรถยนต์โดยเครื่องมือที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล
ขณะที่ “อรุณพลัส” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพิ่งตอกเสาเข็มโรงงานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเตรียมความพร้อมสำหรับแบรนด์ EV จีนที่กำลังทยอยเข้าไทย ทั้งฉางอัน, GAC หรือกวางโจ ออโตโมบิล รวมถึง เชอรี่ โดยล่าสุด “อรุณพลัส” บรรลุข้อตกลงกับ CATL ยักษ์ด้านแบตเตอรี่จากจีน ซึ่งมีการทุ่มเม็ดเงินราว 3,600 ล้านบาท ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack กำหนดเดินสายการผลิตภายในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 6 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี พร้อมประกาศเริ่มก้าวแรกสู่การเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ครบวงจรของอาเซียน