ดีลเลอร์รถระส่ำย้ายค่ายอุตลุด “เอ็มจี-ซูซูกิ”เลือกช็อปเข้าสังกัด

ดีลเลอร์ขายรถฝุ่นตลบ ย้ายแบรนด์กันอุตลุด หลังบริษัทแม่เพิ่มดีกรี ทั้งเม็ดเงินลงทุนรีโนเวตโชว์รูมและเพิ่มดัชนีความพึงพอใจลูกค้า สบช่องแบรนด์เล็ก “เอ็มจี-ซูซูกิ-มิตซูฯ-เชฟโรเลต” เลือกช็อปเข้าสังกัด หลายรายถอดใจเบนเข็มธุรกิจอื่น 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานบรรยากาศค้าปลีกรถยนต์ช่วงที่ผ่านว่า ฝุ่นตลบมาก เนื่องจากดีลเลอร์หลายรายได้รับผลกระทบจากบริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการทำธุรกิจ บีบบังคับลงทุนปรับปรุงโชว์รูมพร้อมศูนย์บริการ อัดนโยบายเพิ่มดัชนีความพึงพอใจลูกค้า และกดดันตัวเลขยอดขาย ทำให้ครึ่งปีแรกกลุ่มตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก

แหล่งข่าวดีลเลอร์ขายรถญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่งยอมรับว่า เริ่มเห็นการย้ายแบรนด์ของแต่ละดีลเลอร์ชัดขึ้น โดยย้ายจากบิ๊กแบรนด์ไปอยู่แบรนด์เล็ก ๆ รวมถึงปรากฏการณ์ทิ้งธุรกิจขายรถยนต์ไปจับธุรกิจอื่น เช่น กลุ่มพรประภา ดีลเลอร์นิสสันประกาศเลิก 7 แห่ง ขายทิ้ง ให้เช่า ทำอสังหาฯ ที่ชัดคือ กลุ่มหงษ์หยก ดีลเลอร์ฮอนด้าในภูเก็ต เบนเข็มสู่ธุรกิจอสังหาฯหรือกลุ่มพรรณเชษฐ์ เดิมขายมาสด้า ตอนนี้ไปขายรถยนต์ซูซูกิ

กดดันยอดขาย-เข้มเงินลงทุน

“เงื่อนไขของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นแรงบีบ โตโยต้าเพิ่มแนวคิด ALIVE SPACE โชว์รูมรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย เทคโนโลยีครบ นำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ในรูปแบบดิจิทัล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบรับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ค่ายมาสด้าก็นำคอนเซ็ปต์ใหม่ MCI หรือ Mazda Corporate Identity มาใช้ ซึ่งทำให้ดีลเลอร์ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างเยอะ”

ล่าสุดค่ายนิสสันเพิ่งประกาศยกเลิกสัญญาการเป็นดีลเลอร์อีก 19 โชว์รูม ทำให้เชื่อว่าทั้ง 19 รายนี้น่าจะขยับขยายไปอยู่แบรนด์อื่นเช่นกัน โดยเฉพาะแบรนด์ที่มียอดขายต่ำกว่า 100,000 คันต่อปี ทั้งซูซูกิ, เอ็มจี, ฟอร์ด, เชฟโรเลต, มิตซูบิชิ ซึ่งยี่ห้อเหล่านี้มีแผนขยายเครือข่ายและมองหาทำเลที่เข้าถึงลูกค้า เป็นธรรมดาของบริษัทแม่เมื่อผู้ประกอบการรายเดิมไม่พร้อมก็ต้องมองหาผู้ลงทุนรายใหม่ที่พร้อมมาแทน

แบรนด์เล็กเลือกช็อปสนุก

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขาย และการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้มีดีลเลอร์ค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อติดต่อเข้ามาเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซูซูกิ และมีผู้ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ระหว่างเจรจา โดยบริษัทมีนโยบายเพิ่มจำนวนโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ซูซูกิให้มีความสัมพันธ์กับภาพรวมของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

นายเอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีตัวแทนจำหน่ายเข้า ๆ ออก ๆ 10-15 ราย ในเขต กทม.

“ดีลเลอร์ที่เข้ามาอยู่กับมิตซูบิชิรายล่าสุด เคยเป็นดีลเลอร์ยี่ห้ออื่นมาก่อน โดยมีโชว์รูมและศูนย์บริการอยู่เเล้วซึ่งปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก เเต่ต้องทำตามเงื่อนไขภายใต้มาตรฐานที่มิตซูฯกำหนด”

มั่นใจตลาดทะลุ 9.5 แสนคัน

นายเอกอธิกล่าวว่า การย้ายแบรนด์ของดีลเลอร์ ปัจจัยหลักคือ เพอร์ฟอร์แมนซ์ในการดำเนินธุรกิจไม่ผ่านเกณฑ์มากกว่า มีบางรายแข็งแรงแต่อยากขยายธุรกิจตัวเองเพื่อไปทำแบรนด์อื่น ในภาพรวมทุกแบรนด์ต่างมีแผนขยายเอาต์เลต เนื่องจากตลาดรวมโตขึ้น ปีนี้มิตซูบิชิเชื่อว่ายอดขายรถยนต์จะทำได้มากกว่า 9.5 แสนคัน หากสถานการณ์ดี ๆ ยอดขายโดยรวมปีนี้อาจทะลุล้านคัน

สอดรับกับนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีดีลเลอร์แบรนด์อื่น ติดต่อขอเป็นดีลเลอร์เอ็มจีจำนวนมาก ทั้งกลุ่มรายใหม่ และรายเดิมที่ต้องการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และกลุ่มที่สวิตช์แบรนด์จากที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของแบรนด์นั้น ๆ

ด้านนายวิชิต ว่องวัฒนาการ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าและฝ่ายพัฒนาผู้จำหน่ายและยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ฟอร์ดกำลังเร่งขยายเครือข่ายไปเขตพื้นที่เมืองรอง โดยใช้โชว์รูมพร้อมศูนย์บริการขนาดเล็กรูปแบบใหม่ ทั้งเพิ่มความร่วมมือกับผู้จำหน่ายเดิมที่แข็งแกร่งและพันธมิตรใหม่ที่เห็นศักยภาพ ปัจจุบันฟอร์ดมีผู้จำหน่าย 145 แห่งทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวสำรวจสถิติจำนวนโชว์รูมของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า โตโยต้า มี 472 แห่ง, อีซูซุ 334 แห่ง, ฮอนด้า 227 แห่ง, นิสสัน 199 แห่ง, มิตซูบิชิ 181 แห่ง, ซูซูกิ 119 แห่ง และมาสด้า 113 แห่ง