ชงอัตราภาษีมอเตอร์ไซค์ใหม่บิ๊กไบก์อ่วม 18%

สรรพสามิตดันปรับโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ก่อนมีรัฐบาลใหม่ ชี้เก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนรถยนต์ แบ่ง 5 อัตราต่ำสุดเสียภาษีแค่ 1% บิ๊กไบก์ทะลุ 18% ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวถึงปี’63 ค่ายสองล้อลั่นต้นทุนเพิ่ม ผลักภาระผู้บริโภค

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลังเห็นชอบ นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีจากเดิมที่ยึดตามขนาดเครื่องยนต์ไปเป็นตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เช่นเดียวกับโครงสร้างภาษีรถยนต์แทน เพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะครอบคลุมถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

เอาให้ทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ทั้งนี้ ทางกรมจะเสนอให้ทัน ครม.ชุดปัจจุบันนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน จนได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว รอแค่ทำเรื่องเสนอ ครม.เห็นชอบเท่านั้น โดยแม้ว่าขณะนี้จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะรัฐบาลชุดเดิมยังมีอำนาจบริหารอย่างเต็มที่ไปจนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ

“รัฐบาลปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และเรื่องภาษีรถจักรยานยนต์ ก็เป็นเรื่องที่หารือกันไว้หมดแล้ว เคยเสนอกระทรวงการคลังไปรอบหนึ่งแล้ว ถือว่าเป็นงานค้าง ก็น่าจะต้องทำต่อให้จบ” แหล่งข่าวกล่าว

แบ่งภาระภาษี 5 ขั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ จะแบ่งเป็น 5 ขั้นอัตรา คือ ถ้าปล่อย CO2 ไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 1% (มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า-EV) ปล่อย CO2ระหว่าง 10-50 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 3% ปล่อย CO2 ระหว่าง 50-90 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 6% และปล่อย CO2 ระหว่าง 90-130 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 9% และปล่อย CO2 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสีย 18% ซึ่งกรณีรถบิ๊กไบก์ (500 ซี.ซี.ขึ้นไป) ก็น่าจะเสียที่อัตราสูงสุด เนื่องจากเครื่องยนต์ใหญ่และมีการปล่อย CO2 มากกว่า 130 กรัมต่อกิโลเมตร

“การเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ไปจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ในระยะแรกภาระภาษีต่าง ๆ จะยังใกล้เคียงเดิม เพื่อให้มีเวลาปรับตัว จะมีเพียงในส่วนของรถบิ๊กไบก์ที่ปล่อย CO2 มาก เพราะเครื่องยนต์มีขนาดใหญ่ จึงอาจมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นบ้าง ขึ้นกับว่าผู้ผลิตจะปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยลด CO2 ได้มากแค่ไหน” แหล่งข่าวกล่าว

ให้เวลาปรับตัว 1 ปี

ขณะที่นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่าการเสนอโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่นั้น ต้องรอให้ฝ่ายนโยบายของกระทรวงการคลังส่งสัญญาณมาว่า พร้อมเสนอ เนื่องจากทางกรมมีความพร้อม เพราะได้หารือร่วมกับทุกฝ่ายไว้พร้อมแล้ว ซึ่งหากเสนอ ครม.เห็นชอบแล้ว ก็จะมีเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว โดยจะกำหนดให้การจัดเก็บภาษีมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

ค่ายยันพร้อมทำตามกรอบ

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้มีการหารือกันมาหลายเที่ยว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปใด ๆ ออกมา แต่ก็เชื่อว่าทุกยี่ห้อพร้อมเดินตามกรอบเวลา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในต้นปี 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการบังคับใช้ มาตรฐานยูโร 4 สำหรับรถจักรยานยนต์

“เท่าที่มีการพูดคุยกันทุกอย่างจะไปเริ่มในปีหน้า มีหลายเรื่องที่ช้า อย่างมาตรฐานยูโร 4 นั้นก็ล่าช้ามานาน จากเดิมที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ปีที่แล้ว แต่ทุกอย่างยังไม่ชัดเจน มีหลายกระแสว่าจะเริ่มได้ในเดือนสิงหาคมนี้ หรืออีกทีคือต้นปี 2563 ในกรอบเวลาที่ใกล้เคียงกับภาษีสรรพสามิตใหม่พอดี”

บิ๊กไบก์อ่วม

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ตามค่าการปล่อยมลพิษ หรือ CO2 กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รถบิ๊กไบก์ เนื่องจากมีการปล่อยค่าไอเสียค่อนข้างมากและเป็นผลจากการใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ส่วนรถจักรยานยนต์ทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง

จ้องผลักภาระผู้บริโภค

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในปีหน้าค่ายรถจักรยานยนต์จะต้องมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งโครงสร้างภาษีรวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานยูโร 4 นั้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและแน่นอนว่า ภาระจะต้องถูกผลักไปที่ผู้บริโภคหากภาครัฐเลื่อนระยะเวลาให้เร็วขึ้น

นายพงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ต้นทุนหรือภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับไว้ แต่เชื่อว่าก่อนที่จะมีการประกาศออกมาภาครัฐจะต้องมีการเรียกผู้ประกอบการเข้าไปหารือร่วมกันอีกรอบ