เช็กถุงลมนิรภัย Air Bag รถคุณใช้ยี่ห้อ Takata หรือไม่

ถุงลมนิรภัย

เตือนเจ้าของรถยนต์ 8 ยี่ห้อดัง ใช้ถุงลมนิรภัย Air Bag “ทาคาตะ” หรือไม่ หากต้องการตรวจสอบต้องทำอย่างไร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ 8 ยี่ห้อที่มีการขายรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย ยี่ห้อ ทาคาตะ (Takata) เร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ประกอบกับข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ที่ระบุว่า ในปี 2561 ได้รับรายงานการตรวจสอบรถยนต์ที่มีถุงลมนิรภัยบกพร่องจำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน และได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยแล้ว 1,045,336 คัน คงเหลืออีก 680,480 คัน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จักถุงลมนิรภัย “ทาคาตะ” มีการติดตั้งในรถยนต์ยี่ห้อใดบ้าง และมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร ก่อนนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับรถ

Air Bag ถุงลมนิรภัย คืออะไร

ถุงลมนิรภัย เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของยานพาหนะ ทำหน้าที่เสมือนเป็นหมอนรองผู้โดยสารที่ประกอบด้วยวัสดุห่อหุ้มที่มีความยืดหยุ่นที่ออกแบบมาเพื่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงการชนกันของรถยนต์ เพื่อป้องกันผู้โดยสารจากการกระแทกกับวัตถุภายใน เช่น พวงมาลัย หน้าต่าง

ยานพาหนะปัจจุบันอาจมีถุงลมนิรภัยอยู่ในหลายตำแหน่ง และเซ็นเซอร์อาจถูกนำมาปรับใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่ากับถุงลมนิรภัยในบริเวณการชนที่อัตราตัวแปรขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของการ

ถุงลมนิรภัย ทาคาตะ ติดตั้งในรถยี่ห้ออะไรบ้าง

สำหรับถุงลมนิรภัย ยี่ห้อ ทาคาตะ ปัจจุบันมีการติดตั้งไว้ในรถยนต์ 8 ยี่ห้อ ประกอบด้วย

  • ฮอนด้า (HONDA)
  • บีเอ็มดับบลิว (BMW)
  • นิสสัน (NISSAN)
  • โตโยต้า (TOYOTA)
  • มิตซูบิชิ (MITSUBISHI)
  • มาสด้า (MAZDA)
  • เชฟโรเลต (CHEVROLET)
  • ฟอร์ด (FORD)

จุดติดตั้งถุงลมนิรภัย

หากผู้ใช้รถยนต์ทั้ง 8 ยี่ห้อ ดังกล่าว อยากทราบว่า รถของตัวเองใช้ถุงลมนิรภัยยี่ห้อ ทาคาตะ หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ในแต่ละตำแหน่งที่มักจะมีการติดตั้ง ดังนี้

  • ถุงลมด้านหน้า (Front Airbag) จะติดตั้งอยู่บนโครงด้านหน้าขวาและซ้าย ช่วยป้องกันคนขับรถ และคนที่นั่งข้างคนขับ
  • ถุงลมด้านข้าง (Side Airbag) จะติดตั้งอยู่ที่แผงประตูหรือที่ตัวเบาะนั่ง
  • ม่านถุงลม (Curtain Airbag) จะช่วยป้องกันการชนจากด้านข้างในระดับปานกลางถึงรุนแรง ถุงลมแบบม่านจะพองตัวออกมา พร้อมการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย มักจะติดตั้งในรถยนต์ที่มีราคาแพง
  • ถุงลมป้องกันเข่าและขา (Knee Airbag) จะซ่อนอยู่ใต้คอนโซลด้านผู้ขับขี่บริเวณหัวเข่า ช่วยป้องกันขา และหัวเข่า ไม่ให้ไปชนเข้ากับคอนโซล ด้านล่างใต้พวงมาลัย รวมทั้งสะโพก และเข่า
  • ถุงลมที่พื้นใต้เท้า (Carpet Airbag) ปัจจุบันจะไม่ค่อยนิยมใช้เท่าไหร่นัก ทำหน้าที่ช่วยผ่อนแรงบริเวณเท้าที่จะไปกระแทกกับพื้น และผนังกั้นระหว่างห้องโดยสาร และห้องเครื่องให้เบาลง

การทำงานของถุงลมนิรภัย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก CHOBROD เว็บไซต์ซื้อ-ขายรถมือสอง ระบุว่า ถุงลมนิรภัยจะไม่ได้ถูกตั้งค่าให้มีการทำงานทุกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น เพราะผู้ผลิตแต่ละรุ่นจะมีการกำหนดการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งเจ้าของรถสามารถศึกษาได้จากคู่มือประจำรถของรุ่นนั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง

โดยหลักการทำงานของถุงลมนิรภัยส่วนใหญ่จะถูกตั้งค่าให้มีการทำงานเกิดขึ้นเมื่อมีการชนด้านหน้าอย่างรุนแรงเท่านั้น เมื่อมีการชนเกิดขึ้นในรัศมีที่กำหนด และแรงกระแทกอยู่ในค่าที่กำหนดถุงลมนิรภัยก็จะทำงาน

แต่ถ้าไม่อยู่ในรัศมีที่กำหนด และแรงของการกระแทกไม่ถึงค่าที่กำหนดถุงลมนิรภัยก็จะไม่ทำงาน เพราะการป้องกันจะอาศัยโครงสร้างของตัวรถ และชุดเข็มขัดนิรภัยซึ่งก็เพียงพอต่อการป้องกันในสภาพความเร็วต่ำอยู่แล้ว การป้องกันจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยชุดถุงลมนิรภัย

เช็กถุงลมนิรภัยได้ที่ไหน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับรถทั้ง 8 ยี่ห้อข้างต้น สามารถตรวจสอบข้อมูลยี่ห้อ รุ่น ปีการผลิตของรถ ที่ต้องมีการเรียกคืนถุงลมนิรภัย ได้ผ่าน www.checkairbag.com หรือนำรถเข้าไปที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือติดต่อผ่านฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ หรือติดต่อสายด่วน 1584 เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หากตรวจสอบพบว่า รถของตนเองยังมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง ให้รีบนำรถไปปรับเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยที่มีความปลอดภัยได้ทันที