6 ทิศทางความยั่งยืนปี’66

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

สถาบันไทยพัฒน์แถลงทิศทางความยั่งยืนปี 2566 สำหรับให้หน่วยงานและองค์กรธุรกิจสามารถนำไปเป็นข้อมูลนำเข้า และใช้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของกิจการให้มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน

สำหรับทิศทางความยั่งยืนในปีนี้ ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแส ESG ที่ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ฯลฯ

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ได้ประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทยไว้เป็น 3 ธีมสำคัญ ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย, CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืนปี 2566 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ประกอบด้วย

1.ESG as an Enabler from “Risk Management” to “Opportunity Identification” ธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการจะนำเรื่อง ESG มาใช้เป็นโจทย์ทางธุรกิจ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบสนองต่อตลาด ตามทิศทางและกระแสโลกที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น (diversity, equity and inclusion : DEI) บนพื้นฐานการดำเนินงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

2.Industry-specific Taxonomy from “ESG in General” to “ESG in Sectoral” หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย จะริเริ่มจัดทำแนวทาง (guideline) และการแบ่งหมวดหมู่ (taxonomy) ประเด็นด้าน ESG จำเพาะรายอุตสาหกรรมที่ตนเองกำกับดูแล ทั้งในภาคธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคประกันภัย ภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม ฯลฯ ตามความพร้อมของหน่วยงาน และแรงผลักดันจากตลาดที่มีความต้องการนำเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

3.Double Materiality from “Outside-in” to “Inside-out” Approach กิจการที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต้องแสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความคาดหวังของผู้ลงทุนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ ด้วยสารัตถภาพเชิงการเงิน (financial materiality) รวมทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการสร้างผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (impact materiality) ควบคู่กัน

4.Climate Action from “Voluntary Practices” to “Mandatory Requirements” จำนวนของบริษัทไทยที่ประกาศเป้าหมาย carbon neutrality และเป้าหมาย net zero จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดรับกับความเคลื่อนไหวในเรื่องการออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานจากภาคสมัครใจมาสู่ภาคบังคับ รวมทั้งการส่งเสริมกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

5.Lean Operation from “Doing more with Best” to “Doing more with Less” ธุรกิจที่เดิมยึดหลัก “Doing more with Best” ด้วยการแสวงหาความเป็นเลิศในทุกด้าน จะหันมาเตรียมรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีนี้ พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการกระชับต้นทุน และขนาดของกิจการ สู่การเป็น lean operation ภายใต้หลัก “Doing more with Less” ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรอีกทางหนึ่ง

6.Proof of Governance from “Responsibility at the Workplace” to “Accountability at the Board Level” ธุรกิจที่ประกาศแนวทางการดำเนินงานโดยยึดกรอบ ESG นอกจากการแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังต้องมีการพิสูจน์ธรรมาภิบาล (proof of governance) ด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาระรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการ ที่เหนือกว่าความรับผิดชอบในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตามบทบาทฐานะของผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร


สำหรับหน่วยงาน หรือองค์กรธุรกิจใดที่สนใจข้อมูลแต่ละทิศทางในรายละเอียด สามารถดาวน์โหลดรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2566 : LEAN o CLEAN o GREEN” ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป