
คอลัมน์ : SD Talk สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT)
ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) หมายถึงการมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาศัยอยู่ในขอบเขตพื้นที่เดียวกัน ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์พืช และสัตว์ นับเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่มีคุณค่า และมูลค่า ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การมีทรัพยากรที่หลากหลาย นับเป็นจุดขายสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นหัวใจสำคัญของการมีวัตถุดิบหลากหลาย สำหรับผลิตและต่อยอดเป็นสินค้ามากมาย
วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็น 1 ใน 3 วิกฤตสิ่งแวดล้อมของโลกควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหา IPBES (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services) องค์กรอิสระระหว่างรัฐบาลชี้ว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 75 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นผิวดินที่ปราศจากน้ำแข็งของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
- กรมอุตุฯ จับตาพายุหมุนเขตร้อน มีหย่อมความกดอากาศก่อตัวใหม่อีก 1 ลูก
- กรมอุตุฯเตือน 17 เขต กทม. เฝ้าระวังฝนตกหนัก 29-30 ก.ย. นี้
- อว.ปลื้ม 19 มหา’ลัยไทยติดอันดับโลก 2024 ตั้งเป้าปีต่อไปขึ้น TOP 400
ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า การลดลงกว่า 2 ใน 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก อาจนำไปสู่วิกฤตทางอาหารได้ในที่สุด และ UNEP ประเมินไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ
วิกฤตทั้งหมดนี้ ไม่เพียงส่งผลต่อพืช และสัตว์ แต่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้เศรษฐกิจโลกยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ เราจึงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (transformative change) ให้เกิดขึ้น
ในระดับโลก การประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติ สมัยที่ 73 ได้ประกาศให้ปี 2021 ถึง 2030 เป็นศตวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ (UN Decade on Ecosystem Restoration) และเมื่อปีที่ผ่านมา การประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 (CBD COP 15) ก็มีการรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
โดยกำหนดวิสัยทัศน์ปี 2050 เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้อง และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยสาระสำคัญของกรอบงานนี้มีทั้งการลดภัยคุกคาม การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ไปจนถึงกลไกผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสหลัก
สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือหน่วยประสานงานหลักของทุกภาคส่วน โดยขณะนี้ได้วางแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดให้มีกฎหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เหมาะสมกับบริบทประเทศ และสอดคล้องกับประชาคมโลก
ในบ้านเรา ตัวอย่างองค์กรชั้นนำที่ใส่ใจเรื่องนี้ ขอยกตัวอย่าง บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรมและรีสอร์ต จนถึงนิคมอุตสาหกรรม หนึ่งในประเด็นความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญ คือเรื่องของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ”
ซึ่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในนโยบายความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะดูแลรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ จากกิจกรรมบนภาคพื้นดิน (land-based activities) สู่ทรัพยากรทางทะเล เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
สิงห์ เอสเตท เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มตั้งแต่การพัฒนาโครงการ โดยทุกครั้งที่จะต้องปรับเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมกับการพัฒนาโครงการ จะคำนึงถึงความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพดั้งเดิม หนึ่งในรูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือการรักษาต้นไม้ใหญ่ยืนต้นในพื้นที่ให้ยังคงอยู่
โดยออกแบบให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้ได้มากที่สุด ดังตัวอย่างที่ โครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส พัฒนาการ ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับทิศทางลม แสงแดด เพื่อลดปัญหาเรื่องความร้อนและได้แสงสว่างจากธรรมชาติ รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ดั้งเดิมไว้ในพื้นที่โครงการด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ โครงการ CROSSROADS Maldives ซึ่งดำเนินงานที่ประเทศมัลดีฟส์ โดยบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือสิงห์ เอสเตท ก่อนการก่อสร้างโครงการ บริษัทได้สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของแนวปะการังในพื้นที่ พบว่ามีประชากรปลาในแนวปะการังไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด และยังพบเต่ากระ ซึ่งถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endanger) ในบัญชีของ IUCN RED LIST จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนแผนการสร้างเกาะ เพื่ออนุรักษ์แนวปะการัง
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและชุมชนท้องถิ่น ร่วมฟื้นฟูแนวปะการัง และสอนการปลูกปะการังโดยวิธีใช้ธรรมชาติเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และลูกค้าของโรงแรมด้วย
วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ผลักดันให้โลกเริ่มเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง และภาคเอกชนที่ปรับวิธีดำเนินธุรกิจอย่างทันท่วงที โดยนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประกอบธุรกิจอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะอยู่รอดและได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต