Market-Think : เอเปค

APEC
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ เรื่องที่เป็น “ไฮไลต์” ที่สุดคือ เรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP

ฟังแนวคิดแล้วเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มีตลาด 2,900 ล้านคน

ตามปกติของการประชุมแบบนี้จะไม่ได้เป็นรูปธรรมในเร็ววัน

แต่ถือเป็นการปักธงความคิดไว้ แล้วค่อย ๆ สานต่อ

จะเป็นจริงหรือไม่ และเป็นจริงเมื่อไร

อย่าเพิ่งถาม

เพราะเป็นเรื่องที่ใช้เวลา

ตอนที่อ่านข่าวนี้ สิ่งแรกที่ผมรู้สึกก็คือ มีคนไทยกี่คนที่รู้เรื่องนี้

และมีคนไทยเท่าไรที่รู้ว่าเนื้อหาของประชุมเอเปคมีอะไรน่าสนใจบ้าง

เพราะตอนนี้มีแต่ข่าวเรื่องเมนูอาหารของผู้นำโลก

เจาะลึกไปถึง “ปลากุเลาเค็มตากใบ”

รัฐบาลอาจจะบอกได้ว่า ประชาสัมพันธ์หรือบอกไปแล้วแต่ไม่สนใจกันเอง

หรือพูดแล้วไม่ฟัง

ในมุมของการสื่อสาร เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามใหม่

ไม่ใช่ถามคนรับสารว่า ทำไมพูดแล้วไม่ฟัง

แต่ต้องถามตัวเองว่า สื่อสารอย่างไร ทำไมคนไม่รู้เรื่องนี้

ต้องยอมรับว่า เรื่องการสื่อสารเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้

ถ้าใครจำบรรยากาศการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพสมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” จะรู้เลยว่าแตกต่างกันมาก

ครั้งก่อน เป็นงานใหญ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก

ทั้งผู้นำประเทศที่มาร่วมงาน และการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่

ที่สำคัญคือ เรื่องการสื่อสารที่ทำให้คนไทยรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของงานนี้
แต่ครั้งนี้ทุกอย่างลดระดับลงมาก

ผู้นำประเทศระดับมหาอำนาจอย่าง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ “วลาดีเมียร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซีย ไม่เดินทางมาเอง

มีแต่ “สี จิ้นผิง” ผู้นำจีนมาเพียงคนเดียว

ที่สำคัญในช่วงการประชุมเอเปค มี 2 งานใหญ่ คือ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กัมพูชา และการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย

“โจ ไบเดน” ไป 2 งานนี้ แต่ไม่มาไทย

“ปูติน” ไม่ไปทุกงาน

“สี จิ้นผิง” ไปที่อินโดนีเซียและไทย

ที่สำคัญ ภาพประวัติศาสตร์โลกเพิ่งเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย เมื่อ “ไบเดน-สี จิ้นผิง” ได้มาเจอกัน

ที่ผ่านมาเขาคุยออนไลน์กันตลอด เพิ่งมีโอกาสเจอกันแบบสัมผัสมือจริง ๆ ครั้งแรกที่นี่

แม้ความน่าสนใจของการประชุมเอเปคจะลดลง ซึ่งอาจถูกตีความทางการเมืองได้ว่า การเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศของไทยอ่อนมากในช่วงที่ผ่านมา

แต่อย่างน้อยผู้นำประเทศหลายประเทศก็มาไทย รัฐบาลเจรจาทวิภาคีกับหลายประเทศ

ถ้าทำดี ๆ ก็คงมีอะไรติดไม้ติดมือบ้าง

แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือ กองทัพผู้สื่อข่าวทั่วโลกมาเมืองไทยในช่วงเวลาที่ไทยกำลังเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว

ในครั้งก่อน จำได้ว่ามีการเตรียมการเรื่องนักข่าวต่างชาติอย่างละเอียด

เพราะรู้ว่าเขาจะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยได้

ธรรมชาติของนักข่าวเมื่อไปต่างประเทศ เขาจะไม่ทำข่าวเฉพาะเนื้อหาการประชุม แต่จะทำเรื่องราวของประเทศเจ้าภาพด้วย

ถ้าเราทำการบ้านดี ๆ มีการสื่อสารหรืออำนวยความสะดวกดี ๆ นักข่าวต่างชาติจะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นอย่างดี

ยิ่งในช่วงที่เราต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวมาเยียวยาเศรษฐกิจไทย

เมื่อผลประโยชน์ทางตรงได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

อย่างน้อยหาประโยชน์ “ทางอ้อม” จากการประชาสัมพันธ์ประเทศ

ให้ต่างชาติรู้ว่าวันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการ “เปิดประเทศ” แค่ไหน หลังโควิด


แม้คนไทยยังไม่ “เปิดหน้ากาก” ก็ตาม