เศรษฐา ทวีสิน : ผู้นำต้องกล้าที่จะพูด อย่ากลัวดอกพิกุลจะร่วง

ทวิตเตอร์
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

 

หลายคนเคยถามผมว่าในฐานะผู้นำขององค์กร ทำไมถึงเลือกที่จะใช้ Twitter ของตัวเองให้ความเห็นในเรื่องราวหลากหลาย ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองบ้างประปราย ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องของธุรกิจตัวเองอย่างเดียว โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสอัพเดต พูดคุยกับทีมงานของบริษัทที่รับผิดชอบ Twitter ในไทยก็สอบถามเขามาตลอดนะครับว่ามีผู้นำองค์กรท่านอื่น ๆ หรือไม่ที่เลือกใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ กับสังคมอย่างเปิดเผย แต่ทุกครั้งก็จะได้ฟีดแบ็กว่ายังมีน้อยมากสำหรับผู้บริหารในประเทศไทย

ผมก็ไม่รู้ว่าคนอื่นที่ไม่ใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียออกมาแสดงความเห็นทางเศรษฐกิจ สังคมแบบตรง ๆ กันเพราะกลัวไปจับประเด็นที่ร้อนแรงและเป็นที่ถกเถียงทำให้ทัวร์ลงหรือเปล่า เพราะแน่นอนความเห็นที่เรามีต่อประเด็นพวกนี้ย่อมมีทั้งถูกใจหรือไม่ถูกใจสังคมบางกลุ่ม

ก็น่าเสียดายอยู่ เพราะผมเชื่อว่าหนึ่งในหน้าที่ของผู้นำองค์กรภาคเอกชนก็คือการมีส่วนร่วมเสนอแนะความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ให้กับสังคม หลาย ๆ ครั้งเรามีประสบการณ์ ความคิด ความหวังดีในหัวที่อยากจะนำเสนอแต่ไม่มีเวทีที่จะพูดเพราะหน้าสื่อก็มีจำกัด ใครจะอยากมาสัมภาษณ์เราในเรื่องจุกจิก ๆ ตลอดเวลาถ้าเราไม่มีข่าวใหญ่ให้กับเขา การใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารก็เลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผมคิดว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน และผมเองเลือกที่จะไม่กลัว เพราะเรามีเจตนาดีในเรื่องที่พูด

การมีช่องทางในการสื่อสารก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือเนื้อความที่เราจะส่งออกไป โดยผมยึดหลักที่เพื่อนสนิทผมผู้ล่วงลับไปแล้ว คุณโต้ง-ฐากูร (บุนปาน) เคยสอนผมเสมอว่าให้พูดเรื่อง “ความ” อย่าไปพูดเรื่อง “คน” ซึ่งผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่หลักแหลมและผู้นำทุกคนควรจำให้ขึ้นใจ

คิดแบบนี้แล้วมันจะเปิดประตูให้เรากล้าพูดในสิ่งที่เราอยากจะพูดได้เต็มที่ แม้ประเด็นนั้นจะร้อนแค่ไหน เพราะทุกคนจะเห็นว่าเรามีเจตนาต้องการแสดงความเห็นต่อ “เหตุ” และ “ผล” ของการกระทำ ความ “ผิดพลาด” และ “ถูกต้อง” ถูกวิเคราะห์ผ่านบริบทองค์รวมเพื่อเรียนรู้และปรับปรุง โดยมิได้มีอคติหรือความตั้งใจจะชมเชยหรือโจมตีปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง

ที่สำคัญอย่าไปยึดติดว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกตลอด ให้ประเด็นเรื่อง “ความ” ที่เราจุดขึ้นมาทำหน้าที่ของมัน กระตุกให้สังคมสนใจที่จะต่อยอดหรือหยิบเรื่องนี้มาคุยกันต่อในเชิงสร้างสรรค์

ผมเองยึดมั่นว่าการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งว่าไปก็มีความละเอียดอ่อนนะครับ บางครั้งก็พลาดที่ไปกล่าวพาดพิงถึง “คน” ออกไป ตัวเองก็ต้องปรับทัศนคติใหม่แล้วโฟกัสที่เรื่อง “ความ” เหมือนเดิมให้ได้

ถ้าจะยกกรณีของผมเองเป็นตัวอย่าง ทุกสิ่งที่ให้ความเห็นเป็นเรื่องที่ผมไตร่ตรองอย่างดีแล้ว จะต้องเป็นเรื่องที่เรายึดมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมและเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม หรือความหลากหลายทางเพศ ถ้าเจตนาเราชัด เราก็จะได้คนที่มองประเด็นเดียวกับเราเข้ามาคุย อย่างล่าสุดที่เราหยิบประเด็นเรื่องความเท่าเทียมขึ้นมาพูด จนมีโอกาสได้จับมือกับ DTAC และ Unilever ช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้ใหญ่ขึ้น หรือถ้าเห็นต่างเราก็ได้รับฟังและเรียนรู้ประเด็นเพิ่มเติมจากคนที่มองอีกมุมในบรรยากาศที่สร้างสรรค์


ฝากไว้เลยนะครับสำหรับใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองมีสถานะเป็น “ผู้นำ” ในสังคม ความกล้าที่จะหยิบยกประเด็นเศรษฐกิจ สังคมที่เราเล็งเห็นว่าสำคัญมาพูด ให้ความเห็น เสนอแนะ ชี้นำให้เกิดแรงกระเพื่อมในทางบวก เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่ผมคิดว่าสังคมมองหาจาก “เจ้าสัว” “นายทุน” ภาคเอกชน เพราะเราต้องการความคิดดี ๆ ในหัวของทุกคนออกมาแชร์กันอย่างสร้างสรรค์ อย่าให้ประชาชนเขามองว่า “เจ้าสัว” “นายทุน” จะพูดก็ต่อเมื่ออำนวยประโยชน์ให้กับตัวเอง พวกพ้อง คอนเน็กชั่นที่อวยประโยชน์ แค่นั้น สังคมจับตาดูคุณอยู่นะครับ